วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2559

เชื่อพระพุทธเจ้า ต้องเชื่อให้หมดใจ


ก่อนอื่นอยากพูดถึงคนเข้าวัดพระธรรมกาย

จะว่านินทากันเองก็ได้ครับ 555

ไม่ใช่อะไร เห็นเพื่อนสมาชิกหลายท่านให้ความสำคัญกับคนวัดมากมายเหลือเกิน

เรียกว่าโผล่ตรงไหน ก็มีคำถามรอให้อธิบายเต็มไปหมด

ยังกับคนวัดเป็นอับดุล...

ถามอะไรรู้... “รู้”

ถามอะไรตอบได้ ... “ได้” 555

โดยส่วนตัวปลื้มใจแทนชาววัดนะครับ ที่ได้รับเกียรตินี้

ไปเข้ากระทู้ไหน ก็เป็นเหมือนทนาย หรือตัวแทนของวัดไปด้วยเลย

เครดิตดีครับ

บางท่านยิ่งน่าภูมิใจ ถูกยกระดับให้กลายเป็นบุคคลอ้างอิงของวัดในบางกระทู้ด้วย เช่น

“เพื่อนผมเป็นคนวัดเล่าว่า”... หรือ

“แฟนผมเป็นสาวกธรรมกาย เล่าว่า”...

หนังสือพิมพ์ยังเคยเลยครับ จับโจรได้ สืบประวัติพบว่าเคยมาวัดพระธรรมกาย

555  นี่ไม่ได้ล้อกันเล่นใช่ไหมครับ !!!

คนมาวัดรวม ๆ กัน ผมว่าเป็นล้านคนแล้วนะครับ

คนวัดก็คือคนธรรมดาแบบเรา ๆ นี่แหละครับ

มีทั้งหญิง ชาย เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ไปจนแก่เฒ่า

ทุกสาขาอาชีพครับ ตำรวจ ทหาร อัยการ ผู้พิพากษา ข้าราชการ นักการเมือง แพทย์ วิศวกร พนักงาน ลูกจ้าง

นักธุรกิจใหญ่ พ่อค้าแม่ขาย ไปจนถึงคนระดับล่าง แจกแจงไม่หวาดไม่ไหวครับ

ฐานะตั้งแต่รวยล้นฟ้า ไปจนถึงคนธรรมดา พอมีพอกิน

ความสุขแบบโลก ๆ ก็สัมผัสกันมาพอสมควรแล้ว

ที่มาวัดเพราะอยากได้ความสุขสงบทางใจ ที่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า

เรามาเอาประโยชน์จากตรงนั้นครับ

และเอาแบบจริงจัง ชนิดที่คนไม่เคยทำยากจะเข้าใจ

คนวัดไม่ได้เก่งตำรับตำรา หรือแตกฉานพระไตรปิฎกหรอกครับ

อย่างผม เห็นใครเอาอะไรมาแปะยาว ๆ ศัพท์แสงยาก ๆ ลิงก์มากมาย

ผมเลื่อนเม้าส์ผ่านไปหน้าตาเฉยเลยนะครับ

ไม่ได้อ่าน  555 หน้าด้านจริง ๆ

รู้ทั้งรู้ว่าเขาปรารถนาดี แต่จนใจที่มีความรู้น้อย

ถ้าเปลี่ยนจากกางตำรา มาเป็นชวนนั่งสมาธิ อย่างนี้พอสู้ครับ 55

ที่ชอบวัด เพราะที่นี่ทำให้ความสงบสุขทางใจ เป็นสิ่งที่สัมผัสได้จริง

ที่วัดจะสอนให้นำคำสอนพระพุทธเจ้ามาทำอย่างจริงจัง เชื่อมั่นกันสุดหัวใจ

และวัดนี้เก่งครับ ในการทำเรื่องยากให้ง่าย และกลายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน


ยกตัวอย่างสักเรื่องก็แล้วกันนะครับ

เช่นทำทาน

ที่อื่นมักจะสอนให้ทำตามศรัทธา ทำบุญมากน้อยไม่สำคัญ ขึ้นอยู่ที่ใจ

คุ้นกันใช่ไหมครับ

ผมคิดว่าถ้าทำตามนั้น เราจะไม่ค่อยได้ทำบุญกันหรอก

อย่างผมทำงานเหนื่อย จะขี้เกียจตื่นใส่บาตรหรือไปวัด

ถ้าเอาตามศรัทธา ผมศรัทธาการนอนมากกว่าครับ

ศรัทธาเกิดยาก นาน ๆ จะโผล่มาสักที (หลายท่านก็คงเป็น)

ดังนั้นทำบุญแต่ละที ใจจะน้อมไปทางทำน้อยเป็นส่วนใหญ่

เพื่อนผมหลายคนก็บอกศรัทธา แต่พอถามว่าได้ไปวัด ทำบุญ หรือปฏิบัติธรรมบ้างไหม

ส่วนใหญ่ตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ไม่” แล้วรีบเฉไฉไปเรื่องอื่น

ดูตอนใส่ซองกฐิน-ผ้าป่าก็ได้ครับ เราใส่กันมากน้อยแค่ไหนก็รู้แก่ใจดี

---------------------------------

วัดพระธรรมกายก็สอนแบบเดียวกัน

เพียงแต่ไม่ให้ศรัทธาไปตามยถากรรมเท่านั้นเองครับ

เมื่อมีศรัทธา จะต้องรักษาให้เติบโต และมั่นคง

วิธีการหนึ่งคือลงมือทำ จนเกิดความเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าครับ

เคยอ่านพระไตรปิฎก บางยุคบางสมัย เขาเลี้ยงพระกันเป็นหมื่นเป็นแสนองค์ใช่ไหมครับ

ทีแรกผมไม่เคยคิดนะว่ามันจะเป็นจริงได้ แต่หลวงพ่อบอกว่าได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือเรื่องจริง

โครงการบวชพระแสนรูป  ถวายสังฆทานหลายหมื่นวัด หรือตักบาตรพระครั้งละหลายหมื่นรูปคือตัวอย่าง

คงเคยได้ยินกันมาบ้างนะครับ

ตอนได้ยินโครงการ ผมยังอุทานว่า “เฮ้ย คิดได้ไง !!”

“คิดได้” ว่ายากแล้ว ทำให้สำเร็จยิ่งยากเข้าไปใหญ่

เพราะนอกจากต้องใช้หัวใจและความกล้าหาญ ยังต้องมีทีมงาน และการจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วย จึงจะสำเร็จ

โดยส่วนตัวผมอยากให้มีบุญใหญ่ ๆ ให้คนไทยได้ทำมากกว่านี้

แต่น่าเสียดาย ที่โครงการใหญ่ ๆ ไม่ค่อยเกิดให้ชาวพุทธชื่นใจหรอกครับ

จะว่าคนไทยไม่คุ้นหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ แต่เคยได้ยินประโยคดับฝันว่า

ถ้าจะสร้างหรือจัดงานใหญ่ ๆ ควรให้เกิดจากการรวมใจ หรือความพร้อมใจของชาวพุทธกันเอง

แปลไทยเป็นไทยได้ว่า พระหรือวัดไม่ต้องไปยุ่ง ถ้าโยมศรัทธาเขาจะรวมกันมาทำเอง (ตามศรัทธาอีกแล้ว 555)

พอถามว่า แล้วเมื่อไหร่จะรวมใจ ? เมื่อไหร่จะพร้อม ?

คำตอบคือ “ไม่รู้”

บางทีผมรู้สึกว่า พระพุทธศาสนาถูกปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมเกินไป

เราจึงหาใครมาเป็นตัวตั้งตัวตีทำอะไรให้ศาสนายากเย็นเหลือเกิน

คนไทยจะเก่งเรื่องให้ความเห็น หรือคำแนะนำ แต่ถ้าให้ออกมา “นำ” ก็ไม่อยากทำซะอีก

การรวมตัวของพุทธบริษัทเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ จึงเกิดได้ยากจริง ๆ

มีลุงญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตยาวนานในเมืองไทย บอกว่าสังคมญี่ปุ่นโยงใยเหมือน “ตาข่ายแมงมุม”

แต่ละคนทำอะไร จะมีผลกระทบไปถึงคนอื่น

เขาจึงแคร์ชุมชน สังคม ให้ความสำคัญกับส่วนรวม

คนญี่ปุ่นจึงทำงานเป็นทีมเก่ง และไม่ค่อยมีใครเด่นกว่าใคร

ส่วนสังคมไทยเหมือน “เม็ดทราย” กำมือไว้ก็เหมือนจะสามัคคีกลมเกลียวกัน

แต่ที่จริงอยู่กันหลวม ๆ

คลายมือเมื่อไหร่ ก็แยกกระจัดกระจายตัวใครตัวมัน

คนไทยให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าส่วนรวม

อาจเพราะอย่างนั้น จึงทำงานเป็นทีมร่วมกันไม่ค่อยได้

แต่ก็แค่ความเห็นของผู้เฒ่า อาจเอามาเป็นจริงเป็นจังไม่ได้นะครับ 55

ผมจึงหวังไว้ ว่าจะมีสักคน สักวัด ที่ไม่ใช่วัดพระธรรมกาย

มาช่วยกันทำโครงการใหญ่ ๆ ให้พระศาสนากันเยอะ ๆ กว่านี้

---------------------------------

การได้ตักบาตรพระหลายหมื่นรูป ทำให้จินตนาการถึงยุคพุทธกาลได้ง่ายขึ้น

เริ่มเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเคยยิ่งใหญ่ขนาดไหน คนสมัยนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง

ยิ่งได้ทำบุญยิ่งติดใจ ศรัทธาก็เพิ่มพูนขึ้นไปทุกวัน เพราะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นชัดเจน

แค่ได้เห็นพลังของชาวพุทธ ก็ขนลุกทั้งตัวแล้วครับ

พระก็เกิดกำลังใจ โยมก็ทำบุญไปอย่างมีความสุข ลูกเล็กเด็กแดงก็ได้เห็นแบบอย่าง พุทธศาสนาก็แข็งแรง

ผู้ชายใจแข็ง ๆ ยังน้ำตาซึม

ใครได้ทำบุญอย่างนี้ แล้วไม่มีความรู้สึกอะไร ผมว่าใจมีปัญหาแล้วครับ 555

เมื่อศรัทธา ก็เชื่อมั่น

อย่างเรื่องนรก-สวรรค์ แม้ยังไม่เห็นกับตา แต่ก็เชื่อว่าจริง

ผมคิดว่าถ้าเชื่อพระพุทธเจ้ากันสุดใจ เรื่องในพระไตรปิฎกก็จะไม่ใช่แค่ตำนาน

แต่จะเป็นเข็มทิศนำทาง

ให้เรานำสิ่งที่เกิดในพุทธกาล

ให้มาปรากฏในยุคของเรา

-------------------------------------------------

ขอให้สนุกสนานกับการทำความดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น