วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

ธรณีพิโรธ ตอนที่1 พระราชาผู้ขัดขวางการบิณฑบาต


 
ช่วงนี้ได้เห็นข่าวหลุมยุบตามที่ต่างๆทั่วโลก จึงลองมาหาข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องสาเหตุหลุมยุบในกัวเตมาลา แล้วจึงมาลองอ่านในประวัติศาสตร์ก็พบว่าในพระไตรปิฎกก็มีการบันทึกไว้เหมือน กัน  พบเรื่องนึงน่าสนใจอาจจะไม่เหมือนแต่ก็คล้ายๆกันในบางมุม

       ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องธรณีสูบ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินเรื่องพระเทวทัต แต่ยังมีอีกคนหนึ่งที่โดนเหมือนกันโดยที่เป็นพ่อของพระเทวทัต (กรรมไม่อาจส่งผลทางญาติแต่ส่งทางการกระทำ)

คนๆนั้นคือ   "พระเจ้าสุปปพุทธะ"

ตามประวัติก็ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นถึงกษัตริย์ปกครองเมืองเทวทหะ แห่งแคว้นโกลิยะ มีพระมเหสี นามว่า นางอมิตาเทวี แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และที่สำคัญ มีลูก2พระองค์ องค์แรกเป็นพระราชโอรส มีพระนามว่า เจ้าชายเทวทัต  ส่วนพระองค์ที่ 2 เป็นพระราชธิดา มีพระนามว่า นางยโสธรา หรือ พิมพา ซึ่งเป็นพระมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะ

ส่วนเหตุที่ทำให้พระเจ้าสุปปพุทธะไม่ชอบพระพุทธเจ้าก็มี2เรื่องด้วยกัน
       1.เพราะพระเทวทัตถูกธรณีสูบเนื่องจากพระพุทธองค์
       2.ทิ้งลูกสาวซึ่งก็คือพระนางพิมพาของออกบวช

เรื่องมาเกิดหลังจากที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบไปก่อนแต่ ก็ไม่ได้ทำให้พระเจ้าสุปปพุทธะเกิดความสำนึก
แต่ยิ่งเหมือนกระพืออารมณ์โกรธมากว่าเดิม วันหนึ่งในช่วงที่เพระพุทธเจ้ามาพักอยู่ ณ วัดนิโครธาราม
พระเจ้าสุปปพุทธะจึงมีความคิดว่า

              "บัดนี้ เราจักไม่ให้พระสมณโคดมนั้นไปฉันยังสถานที่นิมนต์"



จากนั้นจึงปิดทางเป็นที่เสด็จไป นั่งเสวยน้ำจัณฑ์ในระหว่างทาง (อารมณ์ประมาณจิ๊กโก๋ปิดถนน)
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมกับพระภิกษุสงฆ์มาถึงใกล้จุดที่ปิดถนนไว้ พวกมหาดเล็กทูลบอกว่า "พระศาสดาเสด็จมาแล้ว."
พระเจ้าสุปปพุทธะก็เลยตอบไปว่า
             
              "พวกเจ้าจงล่วงหน้าไปก่อน จงบอกพระสมณะนั้นว่า ‘พระสมณโคดมองค์นี้ไม่เป็นใหญ่กว่าเรา’
              เราจักไม่ให้ทางแก่พระสมณโคดมนั้น"

เรียกได้ว่าตอบแบบมีสติครบ ไม่น่าจะเพราะความเมา ดังนั้นเจตนาชัด เพราะมหายเล็กก็พยามยามเตือนหลายครั้งแต่ ก็ได้รับคำตอบแบบเดิม พอพระพุทธเจ้าผ่านไม่ได้ท่านจึงเสด็จกลับ พระเจ้าสุปปพุทธะก็ส่งสายไปสืบในวัดว่าเพราะอยากรู้ว่า พระพุทธเจ้าจะพูดยังไง (อยากเช็คฟีดแบค)    
            
               "เจ้าจงไป ฟังคำของพระสมณโคดมนั้นแล้วกลับมา."

สรุปว่าวันนั้นท่านก็ไม่ได้บิณฑบาตอดอาหารกันหมดทั้งวัด พระศาสดาเสด็จกลับมา ทรงทำการแย้มพระโอฐ พระอานนท์จึงได้ถามถึงสาเหตุ ท่านจึงตรัสว่า
            
               "อานนท์ เธอเห็นเจ้าสุปปพุทธะไหม?"

พระอานนทเถระทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า."  พระศาสดาตรัสว่า

               "เจ้าสุปปพุทธะนั้นไม่ให้ทางแก่พระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา ทำกรรมหนักแล้ว,
               ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ ท้าวเธอจักเข้าไปสู่แผ่นดิน (ธรณีสูบ) ณ ที่ใกล้เชิงบันได ในภายใต้ปราสาท."

สายสืบจึงรีบไปบอกพระเจ้าสุปปพุทธะ แต่แทนที่จะสลดกลับกลายเป็นว่าเกิดไอเดียว่าจะจับผิดคำพูดของพระพุทธองค์ แล้วพูดว่า
             
               "บัดนี้ โทษในการพูด (ผิด) แห่งหลานของเราย่อมไม่มี เธอตรัสคำใด คำนั้นต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทีเดียว,
               แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น คราวนี้ เราจักจับผิดเธอด้วยการพูดเท็จ
               เพราะเธอไม่ตรัสกะเราโดยไม่เจาะจงว่า ‘ท่านสุปปพุทธะจักถูกธรณีสูบในวันที่ 7’
               ตรัสว่า ‘ท่านสุปปพุทธะจักถูกธรณีสูบที่ใกล้เชิงบันได ในภายใต้ปราสาท’
               ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักไม่ไปสู่ที่นั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เราไม่ถูกธรณีสูบในที่นั้นแล้ว จักข่มขี่เธอด้วยการพูดเท็จ."

คือจริงๆแล้วก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าพูดไม่เคยผิดแต่ก็ตีความว่าถ้าเราไม่อยู่ใกล้ตีนบันไดที่ปราสาทก็จะไม่ถูกธรณีสูบ
ตั้งแต่วันนั้นเจ้าสุปปพุทธะรับสั่งให้พวกมหาดเล็กขนเครื่องใช้สอยของ พระองค์ออกทั้งหมดไว้บนปราสาท 7 ชั้น ให้ชักบันได ปิดประตู ตั้งคนแข็งแรงประจำไว้ที่ประตู ประตูละ 2 คน ตรัสว่า

              "ถ้าเราเป็นผู้มุ่งจะลงไปข้างล่างโดยความประมาทไซร้ พวกเจ้าต้องห้ามเราเสีย"

ชาวเมืองก็เอาไปคุยกัน เมื่อเรื่องทราบไปถึงพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า
             
              "ภิกษุทั้งหลาย เจ้าสุปปพุทธะมิใช่จะนั่งบนพื้นปราสาทอย่างเดียว ต่อให้เหาะขึ้นไปสู่เวหาส
              นั่งในอากาศก็ตาม ไปสู่สมุทรด้วยเรือก็ตาม เข้าซอกเขาก็ตาม,
              ธรรมดาพระดำรัสของพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสองไม่มี,
              ท้าวเธอจักถูกธรณีสูบในสถานที่เราพูดไว้นั่นแหละ"

และแล้วเมื่อถึงวันที่7 ม้ามงคลตัวโปรดของเจ้าสุปปพุทธะในภายใต้ปราสาทเกิดอาการคึกคะนองอาละวาด พระองค์ได้ยินก็ถามว่าเสียงอะไร พวกมหาดเล็กแจ้งว่า "ม้ามงคลตัวโปรดอาละวาด."

              ** แต่...เกิดเหตุน่าประหลาดเพราะกรรมชั่วที่ได้ทำไว้
           
จากเหตุที่ม้าอาละวาด พระเจ้าสุปปพุทธะมีความเป็นห่วงมา ด้วยอาการขาดสติจึง ลงจากปราสาทชั้น 7 ทหารที่เฝ้าประตูก็ไม่ได้ขัดขวาง เพราะคิดว่าเลยครบกำหนด 7 วันแล้ว
     
              ** พอพระเจ้าสุปปพุทธะย่างพระบาทเหยียบแผ่นดิน  ก็ถูกพระธรณีสูบหายไปสู่มหานรกอเวจี ที่ใกล้เชิงบันไดที่ภายใต้ปราสาท **



สรุปว่าเมื่อบุคคลใดทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็รอเวลาส่งผล เมื่อถึงเวลาแม้จะหนีไปไหนไม่พ้น ขนาดหลบบนชั้น7 ก็ยังต้องมีเหตุให้ลงมารับกรรม ในเรื่องนี้หลังจากเกิดเหตุพระอานนท์จึงไปแจ้งพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงได้ให้ข้อคิดไว้ว่า
             
                                 "น อนฺตลิกฺเข น สมุทฺทมชฺเฌ                 
                                 น ปพฺพตานํ วิวรํ ปวีสํ   
                                 น วิชฺชตี โส ชคติปฺปเทโส   
                                 ยตฺรฏฺฐิตํ นปฺปสเหยฺย มจฺจุ.   

                   บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้,
                   หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้, หนีไปสู่ซอก
                   ภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ) เขาอยู่แล้วในประเทศแห่ง
                   แผ่นดินใด ความตายพึงครอบงำไม่ได้ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่."


         
จบเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสาเหตุหลุมยุบในพระไตรปิฎก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น