วิชชาธรรมกาย เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้ค้นพบ วิธีเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4
ให้ถึงธรรมกายมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์
ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการปฏิบัติอย่างชัดเจนภายหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ 500
ปี
วิชชาธรรมกายเป็นวิธีปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4
มีวิธีปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนชัดเจน ให้ถึงธรรมกาย ให้เกิดอภิญญา และวิชชา
คือความรู้ความสามารถพิเศษ ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6) ชื่อว่า
"วิชชาธรรมกาย" ให้เข้าถึงและรู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต
และธรรมในธรรม
สามารถให้ทั้งเห็นและทั้งรู้สภาวธรรมทั้งสังขารและวิสังขารคือพระนิพพาน
และเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานคู่กัน
เป็นพื้นฐานสำคัญแก่การเจริญวิปัสสนาปัญญาถึงโลกุตตรปัญญา ได้อย่างดี
จึงเป็นวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง
วิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำสั่งสอนศิษยานุศิษย์จนตลอด
ชีวิตของท่าน และได้ถ่ายทอดสืบต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน
1 หลักปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
1.1 ขั้นสมถกัมมัฏฐาน
1.2 ขั้นอนุวิปัสสนา
1.3 ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา
2 วิธีเจริญสมถภาวนา ถึงธรรมกาย
2.1 วิธีเจริญสมถภาวนาถึง 18 กาย - ถึงธรรมกาย
2.2 วิธีพิสดารกาย สุดกายหยาบกายละเอียด
2.3 วิธีเจริญสมาธิ: รูปฌาน 4
3 วิธีเจริญวิชชา 3
3.1 อาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า: วิชชา 3
3.2 วิธีเจริญวิชชา 3 ถึงมรรคผลนิพพาน
หลักปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน[แก้ไข]
ขั้นสมถกัมมัฏฐาน[แก้ไข]
มีหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้นที่สำคัญ 3 ประการ คือ
กำหนด "ฐานที่ตั้งของใจ" ไว้ ณ ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ
อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม และเป็นที่ตั้งกายในกาย เวทนาในเวทนา
จิตในจิต และธรรมในธรรม ศูนย์กลางกายระดับสะดือเป็นที่สุด
และเป็นต้นทางลมหายใจ (เข้า-ออก) กำหนด "บริกรรมนิมิต" คือ
นึกให้เห็นด้วยใจเป็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใส ให้ใจรวมอยู่ ณ
ศูนย์กลางดวงแก้วกลมใสนั้น ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ
(ตามข้อ 1) การเพ่งดวงแก้วกลมใส มีลักษณะเป็นการเพ่งแสงสว่าง (อาโลกกสิณ)
กล่าวคือ ถ้าพระโยคาวจรเพ่งแสงสว่างเป็นอารมณ์ ถึงได้อุคคหนิมิต
ก็จะเห็นเป็นดวงใสสว่าง หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงใช้ดวงแก้วกลมใส
(แทนดวงใสสว่าง) เป็นบริกรรมนิมิต กำหนด "บริกรรมภาวนา" คือ
ท่องในใจด้วยองค์บริกรรมภาวนาว่า "สัมมาอรหังๆๆ" ที่กลางของกลางจุดเล็กใส
กลางดวงแก้วกลมใส ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือนั้น
เพื่อประคองใจให้หยุดนิ่งตรงนั้น คำว่า "สัมมา" เป็นคำย่อจากคำว่า
"สัมมาสัมพุทโธ" แปลว่า พระผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ซึ่งหมายถึง
พระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ส่วนคำว่า "อรหัง" แปลว่า
พระผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรมทั้งปวง ซึ่งหมายถึง
พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อบริกรรมภาวนาว่า "สัมมาอรหังๆๆ"
นึกน้อมพระพุทธคุณ คือ พระปัญญาคุณ และ
พระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ามาสู่ใจเราด้วย เป็นพุทธานุสสติ
ถ้าผู้ปฏิบัติภาวนากำหนดบริกรรมนิมิต คือ
นึกเห็นเครื่องหมายดวงแก้วกลมใสด้วยใจได้ยาก ก็ให้สังเกตลมหายใจเข้า-ออก
ที่ผ่านและกระทบดวงแก้ว ตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ
อยู่ตรงนั้น (เป็นอานาปานสติอีกโสดหนึ่ง) โดยไม่ต้องตามลมหายใจเข้า-ออก
ก็จะช่วยให้เห็นดวงนิมิตได้ง่ายเข้า เมื่อเห็นดวงใสปรากฏขึ้นแล้ว
ก็ปล่อยความสนใจในลม
เมื่อรวมใจหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายเหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ
อันเป็นที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็จะเข้าถึง และได้รู้เห็นกายในกาย
เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จนถึงธรรมกาย อันเป็นกายที่พ้นโลก
เป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์
เป็นอุปการะสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาจากการที่ได้เห็นแจ้งและ
รู้แจ้ง
ในสภาวะของสังขาร คือ ธรรมอันไปในภูมิ 3 ทั้งสิ้น
และธรรมที่เป็นไปในภูมิที่ 4 เฉพาะที่เป็นสังขตธรรม ตามที่เป็นจริง
ในสภาวะของวิสังขาร คือ พระนิพพานธาตุโดยปรมัตถ์
อันเป็นคุณธรรมภายในของพระอริยเจ้า ทั้ง สภาวะนิพพาน ผู้ทรงสภาวะ และ
อายตนะนิพพาน ตามที่เป็นจริง และ ในอริยสัจ 4 อันเป็นไปในญาณ 3 คือ สัจจญาณ
กิจจญาณ และ กตญาณ มีรอบ 12
ขั้นอนุวิปัสสนา[แก้ไข]
เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว
ย่อมสามารถเจริญภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนา ให้เกิดอภิญญา
ความรู้ความสามารถพิเศษ และวิชชา ได้แก่ วิชชา 3 วิชชา 8 (รวมอภิญญา 6)
จึงชื่อว่า "วิชชาธรรมกาย" ให้เกิดและเจริญความรู้ความสามารถพิเศษ
ให้สามารถพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ให้เจริญ "วิปัสสนาปัญญา" เห็นแจ้งรู้แจ้งสภาวะของสังขาร
อันประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น
อนิจฺจํ ทุกฺขํ และอนตฺตา อย่างไร
อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญโลกุตตรวิปัสสนา ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ 4 เป็น
"โลกุตตรปัญญา" ต่อไป
กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติภาวนาได้ถึงธรรมกายแล้ว
พึงฝึกเจริญฌานสมาบัติให้เป็นวสี แล้วย่อมเกิดอภิญญา มีทิพพจักษุ ทิพพโสต
เป็นต้น ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้
(การเริ่มเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วกลมใสนั้น
มีลักษณะเป็นการเพ่งกสิณแสงสว่าง ชื่อว่า "อาโลกกสิณ" อันเป็นกสิณกลาง
และมีผลให้เกิดอภิญญาได้ง่าย) สามารถน้อมไปเพื่อ "อตีตังสญาณ"
เห็นอัตตภาพของตนและสัตว์อื่นในภพชาติ ก่อนๆ น้อมไปเพื่อ "อนาคตังสญาณ"
เห็นจุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม และน้อมไปเพื่อ
"ปัจจุปปันนังสญาณ" เห็นสัตว์โลกในทุคคติภูมิ ได้แก่ ภูมิของเปรต สัตว์นรก
อสุรกาย และในสุคติภูมิ ได้แก่ เทวโลก และพรหมโลก ตามที่เป็นจริง
ตามพระพุทธดำรัสได้ ให้สามารถรู้เห็นสภาวะของสังขาร ได้แก่
เบญจขันธ์ของสัตว์โลกทั้งหลาย อันปัจจัยปรุงแต่งด้วย ปุญญาภิสังขาร
คือความปรุงแต่งด้วยบุญคือกุศลกรรม อปุญญาภิสังขาร
คือความปรุงแต่งด้วยบาปคืออกุศลกรรม และ อเนญชาภิสังขาร คือ
ความปรุงแต่งที่ไม่หวั่นไหว (ด้วยรูปฌานที่ 4 ถึงอรูปฌานทั้ง 4)
ได้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกในสังสารจักร อันเป็นไปตามกรรม โดยวัฏฏะ 3 คือ กิเลสวัฏ กัมมวัฏ และวิปากวัฏ และ
ให้สามารถเจริญปัญญารู้แจ้งในสภาวะของสังขารธรรม
คือธรรมชาติที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) กล่าวคือ
ธรรมที่เป็นไปในภูมิ 3 ทั้งสิ้น ว่ามีสามัญญลักษณะที่เป็น อนิจฺจํ ทุกขํ
และ อนตฺตา อย่างไร อย่างละเอียด และกว้างขวาง
ให้เจริญวิปัสสนาญาณ รวบยอดผ่านถึงโคตรภูญาณของธรรมกายได้อย่างรวดเร็ว และเป็นบาทฐานให้เจริญโลกุตตรวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี
ขั้นโลกุตตรวิปัสสนา[แก้ไข]
เมื่อพระโยคาวจรเจริญอนุปัสสนา ตามแนวสติปัฏฐาน 4 คือ
มีสติพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้ง ณ
ภายใน และ ณ ภายนอก
เห็นแจ้งรู้แจ้งในสามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายอยู่แล้วนั้น
ธรรมกายย่อมเจริญฌานสมาบัติพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
คือมีสติพิจารณาเห็นอริยสัจ 4 ของกายในภพ 3 แล้วทำนิโรธ
(ไม่ใช่นิโรธสมาบัติ) ดับสมุทัย ปหานอกุศลจิตของกายในภพ 3
โดยวิธีดับหยาบไปหาละเอียด ผ่านศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม
อันเป็นที่ตั้งของธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ "ใจ" อันกิเลส อวิชชา ตัณหา
อุปาทาน ยึดครองอยู่ ปหานอกุศลจิต ชำระธาตุธรรม เห็น-จำ-คิด-รู้ คือ "ใจ"
ของกายในกาย (รวมเวทนา จิต และธรรม) จากกายสุดหยาบถึงสุดละเอียด
จนเป็นแต่ธาตุล้วนธรรมล้วนของธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียด
ถึงปล่อยวางอุปาทานในเบญจขันธ์ของกายในภพ 3
และปล่อยความยินดีในฌานสมาบัติเสียได้
ปล่อยขาดพร้อมกันแล้ว ธรรมกายที่หยาบตกศูนย์
ธรรมกายที่บริสุทธิ์สุดละเอียดนั้นจะไปปรากฏในอายตนะนิพพานอันเป็นที่สถิต
อยู่ (อายตน=วาสฏฺฐาน)
ของพระนิพพานคือธรรมกายตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้า
ที่ดับขันธ์เข้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ประทับเข้านิโรธสงบตลอดกันหมดนับไม่ถ้วน
สว่างไสวด้วยธรรมรังสีของธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว
เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม เป็นความสูญ
คือว่างอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพราะไม่มีสังขาร ชื่อว่า "ปรมัตถสูญ"
โคตรภูจิต คือ ธรรมกายโคตรภูของพระโยคาวจรนั้นย่อมยึดหน่วงพระนิพพานอันละเอียด ประณีต สุขุมลุ่มลึกนั้นเป็นอารมณ์
เมื่อมรรคจิต และ มรรคปัญญา อันรวมเรียกว่า มรรคญาณ
ของธรรมกายมรรคของพระโยคาวจรนั้นเกิดและเจริญขึ้น ปหานสัญโญชน์
กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกอย่างน้อย 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ขึ้นไปได้
ย่อมก้าวล่วงข้ามโคตรปุถุชนเป็นพระอริยบุคคลตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้
และ ณ บัดนั้น ธรรมกายมรรค ได้แก่ ธรรมกายพระโสดาปัตติมรรค ก็จะตกศูนย์
และปรากฏผลจิต ได้แก่ ธรรมกายพระโสดาปัตติผล เข้าผลสมาบัติ
พิจารณาปัจจเวกขณ์ 5 คือ พิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละได้ กิเลสที่ยังเหลือ
(ในกรณีเสขบุคคล) และพิจารณาพระนิพพาน ต่อไป
วิธีเจริญสมถภาวนา ถึงธรรมกาย[แก้ไข]
วิธีเจริญสมถภาวนาถึง 18 กาย - ถึงธรรมกาย[แก้ไข]
เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาทานศีล เพื่อให้กาย วาจา สงบ และบริสุทธิ์แล้ว ก็ตั้งใจชำระจิตใจให้สะอาดด้วยการเจริญภาวนาธรรมต่อไป
เบื้องต้น ให้วางภารกิจทางกายให้หมดเสียก่อน แล้วนั่งขัดสมาธิ
เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางอยู่บนมือซ้าย
ให้นิ้วชี้มือขวาจรดพอดีกับหัวแม่มือซ้ายพอดี ตั้งกายให้ตรง สูดลมหายใจยาวๆ
แล้วปล่อยกายตามสบาย อย่าเกร็ง เพราะจะทำให้เมื่อยเร็ว
เมื่อกายพร้อมแล้ว ก็ตั้งใจวางภารกิจทางใจเสียทั้งหมดอีกเหมือนกัน โดยตั้งจิตอธิษฐานลงไปที่ศูนย์กลางกายว่า
ณ บัดนี้ เราจะตั้งใจเจริญภาวนาธรรมอย่างเต็มที่
เพื่อความหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ตัณหา อุปาทาน และเพื่อมรรคผลนิพพาน
จะขอสละเวลาเพียงชั่วครู่นี้เพื่อปฏิบัติกิจอันมีค่าสูงที่สุดในชีวิต
ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด เราก็จะไม่สนใจ
หวั่นไหว หรือยินดียินร้ายใดๆ ทั้งสิ้น จะยอมเสียสละแม้แต่ชีวิต
เพื่อพระธรรมอันวิเศษสุดนี้ทีเดียว
เมื่อวางภารกิจทางกาย วาจา และใจ ได้เรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อไปที่ศูนย์กลางกายอีก
น้อมรำลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์
คุณบิดามารดา และบุญบารมีทั้งหลาย ที่เคยได้สร้างสมอบรมมา
ให้มาช่วยประคับประคองใจให้หยุดให้นิ่ง และเกิดปัญญา ได้ดวงตาเห็นธรรม
พร้อมด้วยขอให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครองสรรพอันตราย อย่าได้มากล้ำกราย
ขัดขวางการเจริญภาวนาของเรา
เมื่อตั้งใจมั่นคงดีแล้ว ก็ค่อยๆ หลับตาลงเบาๆ
และกำหนดบริกรรมนิมิตและบริกรรมภาวนาคู่กัน บริกรรมนิมิต นึกให้เห็นด้วยใจ
เป็นเครื่องหมาย ดวงแก้วกลมใส เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว
โตเท่าแก้วตา จุดศูนย์กลางข้างในโตเท่าเมล็ดพุทธรักษา
ใสขาวเหมือนกระจกส่องเงาหน้า
แล้วบริกรรมภาวนาคือท่องในใจเพื่อประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า
"สัมมาอะระหังๆๆ"
ศูนย์กลางกาย เหนือระดับสะดือประมาณ 2 นิ้วมือ นี่เป็น ฐานที่เจ็ด
นี่เป็นที่ตั้งถาวรของใจ คนเราเวลาจะเกิด จะดับ (ตาย) จะหลับ จะตื่น
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่
จะลอยขึ้นมาที่ศูนย์นี้ เพราะฉะนั้น ศูนย์นี้จึงสำคัญนัก
จะเข้ามรรคผลนิพพาน ก็ต้องเข้าที่ศูนย์นี้
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็จงทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางนี้ทีเดียว ซ้าย ขวา
หน้า หลัง ล่าง บน ไม่ไปทั้งนั้น เข้ากลางของกลางๆ ๆ นิ่งแน่นหนักขึ้น
พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้น เท่าฟองไข่แดงของไก่
อย่างเล็กเท่าดวงดาวในอากาศ อย่างโตเห็นเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เลยทีเดียว
ดวงธรรมที่เห็นนี้เป็นหนทางเบื้องต้นไปสู่มรรค ผล นิพพาน จึงเรียกว่า
ดวงปฐมมรรค และเป็นที่ตั้งของ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
ซึ่งเป็นพื้นฐานของกายพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
จึงเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เมื่อเห็นดวงใสแจ่มบังเกิดขึ้นอย่างนี้ละก็ เลิกบริกรรมภาวนาได้ ทีนี้
รวมใจให้หยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางดวงนี้แหละ
จะเห็นที่หมายเป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ที่กลางดวงนั้น
ให้วางใจหยุดในหยุดลงไปที่ศูนย์กลางนั้น พอถูกส่วนเข้า
ดวงใสเดิมนั้นก็จะว่างหายไป แล้วก็จะเกิดดวงใหม่ขึ้นมาอีก
ใสละเอียดหนักยิ่งกว่าเก่า คือ ดวงศีล อันเป็นปัจจุบันศีลในทางปฏิบัติ
ของผู้มีกาย วาจา และใจ บริสุทธิ์ ด้วยการกล่าวแต่วาจาที่ชอบ
การประกอบกรรมที่ชอบ และการเลี้ยงชีพชอบ
หยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงศีลนั่นแหละ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า
ดวงศีลจะว่างหายไป แล้วจะเห็น ดวงสมาธิ ผุดลอยขึ้นมาแทนที่
เป็นสมาธิของผู้มีจิตอันพร้อมด้วยความเพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจมั่นชอบ
อันเป็นจิตที่ควรแก่งานวิปัสสนาให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสัจจธรรม
รวมใจหยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงสมาธิ พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า
ดวงสมาธิจะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใสสว่างเกิดขึ้นมาใหม่ ใสละเอียดกว่าเดิม
มีรัศมีสว่างยิ่งนัก คือ ดวงปัญญา เป็นปัญญาที่พร้อมด้วยความเห็นชอบ
และดำริชอบ
หยุดในหยุดอยู่ที่กลางดวงปัญญาต่อไปอีก เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า
ดวงปัญญาจะว่างหายไป แล้วปรากฏดวงใสสว่างเกิดขึ้นมาใหม่ คือ ดวงวิมุตติ
ใสละเอียดกว่าเดิม มีรัศมีสว่างยิ่งนัก
เป็นปัจจุบันธรรมของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสของมนุษย์ ได้แก่ อภิชฌา
พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ นั่นเอง การหลุดพ้นดังกล่าวนี้ เป็นเบื้องต้น
คือเป็นการหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลส เรียกว่า วิกขัมภนวิมุตติ
อันจะเป็นแนวทางไปสู่การหลุดพ้นอย่างถาวร ที่เรียกว่า สมุจเฉทวิมุตติ ต่อไป
หยุดในหยุดลงไปที่กลางดวงวิมุตตินั่น พอหยุดถูกส่วนเข้า ก็จะถึง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
เมื่อรวมใจหยุดนิ่งลงไปที่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า ก็จะถึง
กายมนุษย์ละเอียด หรือ กายฝัน มีลักษณะหน้าตาเหมือนกับผู้ปฏิบัติทุกประการ
แต่สวยละเอียดประณีตกว่าการมนุษย์หยาบ นั่งในท่าขัดสมาธิ
หันหน้าไปทางเดียวกับเรา
ถ้าเห็นแล้วอย่างลังเลสงสัย สวมความรู้สึกเข้าไปเป็นกายใหม่นั้นเลย
ทิ้งความรู้สึกอันเนื่องด้วยกายหยาบนี้
สวมความรู้สึกเข้าเป็นไปกายมนุษย์ละเอียด ใสละเอียด อยู่นั่นแหละ
หยุดในหยุดกลางของหยุด ให้ใสละเอียดทั้งดวงทั้งกายทั้งองค์ฌาน
ทำอย่างนี้เรื่อยไปทีละกายๆ ไปจนสุดละเอียดถึงธรรมกาย
โตใหญ่ใสละเอียดไปตามกาย ไม่ถอยคืนออกมา (คือไม่ถอนออกจากสมาธิ)
บางท่านอาจจะเห็นข้ามขั้นตอน ไปเห็นธรรมกายเลยก็มี กายพระพุทธรูปขาวใส บริสุทธิ์ เกตุดอกบัวตูม ปรากฏขึ้นมา ณ ศูนย์กลางกายนั้นเอง
ให้รวมใจหยุดลงไป ณ ศูนย์กลางกายมนุษย์ละเอียดนั้นต่อไปอีก ก็จะเห็นดวงธรรม
ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ตามลำดับ
แล้วก็จะถึง กายทิพย์หยาบ-ทิพย์ละเอียด ตามลำดับ ใตใหญ่ใสสว่างกว่าเดิม
แพรวพราวสวยงาม ก็ดับหยาบไปหาละเอียด เป็นกายทิพย์นั้นต่อไป
โดยวิธีเจริญภาวนาให้ใจหยุดในหยุด ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ฯลฯ ของทิพย์ละเอียด
หลุดพ้นจากกิเลสกลางของทิพย์ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ แล้วก็จะถึง
กายรูปพรหมหยาบ-รูปพรหมละเอียด ตามลำดับ ก็จะเห็นกายและดวงธรรมของรูปพรหม
ใสสะอาด บริสุทธิ์ และมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าของกายทิพย์
แต่รูปพรหมยังมีกิเลสที่ค่อนไปทางละเอียดอยู่อีก คือ ราคะ โทสะ และโมหะ
ให้ใจของรูปพรหมหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกาย ผ่านดวงธรรม ดวงศีล ฯลฯ
ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสเหล่านี้ แล้วก็จะถึง กายอรูปพรหมหยาบ-อรูปพรหมละเอียด
ซึ่งใสละเอียด มีรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปอีก
แต่รูปพรหมยังมีกิเลสที่ละเอียดอยู่ คือ ปฏิฆะ กามราคะ และอวิชชา
เมื่อรวมใจหยุดนิ่งลงไป ณ ศูนย์กลางกายอรูปพรหม เจริญภาวนาผ่านดวงธรรมต่างๆ
อีก ก็จะหลุดพ้นจากกิเลสของกายโลกิยะทั้งหมด ก็จะเข้าถึง กายธรรม คือ
ธรรมกาย เริ่มตั้งแต่ ธรรมกายโคตรภูหยาบ-โคตรภูละเอียด
ซึ่งธาตุธรรมยังอ่อนอยู่ จึงต้องเจริญภาวนาต่อไปตามแนวเดิมนี้อีก ก็จะถึง
ธรรมกายพระโสดาหยาบ-พระโสดาละเอียด
ธรรมกายพระสกิทาคาหยาบ-พระสกิทาคาละเอียด
ธรรมกายพระอนาคาหยาบ-พระอนาคาละเอียด ธรรมกายพระอรหัตหยาบ-พระอรหัตละเอียด
ซึ่งช่วยให้หลุดพ้นจากสัญโญชน์กิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลกเป็น
ชั้นๆ ไป จากหยาบไปหาละเอียด
เมื่อถึงกายพระอรหัตละเอียดแล้ว
เจริญภาวนาต่อไปก็จะสามารถวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน
เป็นการถาวร เป็นสมุจเฉทปหานได้
วิธีเจริญวิชชา 3[แก้ไข]
อาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า: วิชชา 3[แก้ไข]
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เภสกฬมิคทายวัน
เขตนครสุงสุมารคิระ ในภัคคชนบท
ได้รับอาราธนาของโพธิราชกุมารไปรับภัตตาหารและเสวย ณ
โกกนุทปราสาทของโพธิราชกุมาร ครั้นเสวยเสร็จแล้ว
สมเด็จพระผู้มีพระภาคได้ตรัสสนทนากับโพธิราชกุมารว่า
ทรงบรรลุฌาน 4
"ครั้นเราบริโภคอาหารหยาบ มีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม
สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป
มีปีติและสุขผู้ได้ฌานเกิดแต่สมาธิอยู่. มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ตติยฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข. บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่."
ทรงบรรลุวิชชา (ญาณ) 3
"เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ
"ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ
ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ
เรานั้นย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส
ด้วยประการฉะนี้. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 1 ที่ เราได้บรรลุแล้ว
ในปฐมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่อาตมภาพผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ
"จุตูปปาตญาณ" รู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย
เรานั้นย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
ด้วยประการฉะนี้. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 2 ที่เราได้บรรลุแล้ว
ในมัชฌิมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว
ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว แก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
มีตนส่งไปแล้วอยู่.
เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส
อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้โน้มน้อมจิตไปเพื่อ
"อาสวักขยญาณ" ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ เหล่านี้อาสวสมุทัย
เหล่านี้อาสวนิโรธ เหล่านี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา.
เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ
แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ราชกุมาร นี้เป็นวิชชาที่ 3
ที่อาตมภาพได้บรรลุแล้ว ในปัจฉิมยามแห่งราตรี. อวิชชาถูกกำจัดแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว
แก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่.
ราชกุมาร เรานั้นได้มีความคิดเห็นว่า ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ เป็นธรรมลึก
ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต
อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.
การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และ ธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง
เป็นภายนอกบ้าง, เป็นทั้งภายในและภายนอกบ้าง ดังที่กล่าวมาแล้วเนืองๆ อยู่
ก็จะเห็นชัดในสามัญญลักษณะ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง
และอนัตตาของสังขารธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอย่างชัดแจ้ง
จนเห็นเป็นธรรมดาในความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของสังขารของสัตว์ทั้งหลาย
ช่วยให้เกิดธรรมสังเวชสลดใจในการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายที่ยังติด
อยู่ในสังสารจักรและไตรวัฏฏะ คือ กิเลสวัฏฏะ กรรมวัฏฏะ และวิปากวัฏฏะ
อยู่ในภพ 3 นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไปนรกบ้าง สวรรค์บ้าง มนุษย์บ้าง
สัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เปลี่ยนแปลงไปต่างๆ
น่าสะพรึงกลัวและน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก ต้องทิ้งสมบัติพัสถาน บุตร ภรรยา
และบิดามารดาแต่เก่าก่อน หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเครื่องล่อเครื่องหลง
ดุจดังว่าความฝัน เอาเป็นของเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้
เป็นอย่างนี้หมดทั้งตัวเราเองและสัตว์อื่น เหมือนกันหมด ทุกรูปทุกนาม
แล้วให้ยกวิปัสสนาญาณทั้ง 10 ประการ ขึ้นพิจารณา ทบไปทวนมา
ทับทวีให้มากเข้า ก็จะเห็นภัยในวัฏฏสงสาร
บังเกิดธรรมสังเวชสลดจิตคิดเบื่อหน่ายในสังขารและนามรูป
เมื่อปัญญารู้แจ้งสว่างชัดขึ้น ทำลายอวิชชาเป็นมูลรากฝ่ายเกิดดังนี้
ตัณหาและทิฏฐิก็เบาบางหมดไปตามระดับคุณธรรมที่ปฏิบัติได้
สามารถปล่อยวางอุปาทานในขันธ์ 5 ได้ยิ่งขึ้น สิ้นรัก สิ้นใคร่
สิ้นอาลัยยินดีในการครองขันธ์และทำนุบำรุงขันธ์เกินความจำเป็น
เมื่อรู้เห็นเช่นนี้ แม้อยากจะไปเสียให้พ้นจากสังขารนี้
ก็ยังไม่อาจจะกระทำได้ เหมือนดังนกที่ติดอยู่ในกรง หรือปลาที่ติดเบ็ด
จึงได้แต่วางเฉย เพิกเฉยในสังขาร เป็น สังขารุเปกขาญาณ
แล้วจึงยกจิตนั้นขึ้นให้บริสุทธิ์ ใสสะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
โดยน้อมไปเพื่อ อาสวักขยญาณ พิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม อันมีนัยอยู่ในอริยสัจ
ให้เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับเพราะเหตุดับ
และหนทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อกระทำอาสวะให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
เป็นพระอรหันตขีณาสพผู้มีอาสวะสิ้นแล้วต่อไป ด้วยการนำเอาญาณทั้ง 2
ในเบื้องต้น คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ และ จุตูปปาตญาณ
นั้นมาเป็นอุปการะให้สิ้นดังนี้
[๓๓๑] ภิกษุนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อม น้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ เธอย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำ
ให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปก็ได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
เธอผุดขึ้นดำลง แม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แยกเหมือน
เดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งบัลลังก์เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำ
พระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ก็ได้ ใช้อำนาจทางกาย
ไปตลอดพรหมโลกก็ได้
[๓๓๒] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุ เธอย่อมไปยินเสียงสองชนิด คือ
เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์
เกินหูของมนุษย์
[๓๓๓] เธอเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน มั่นคง ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น
ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือ จิตปราศจากราคะ
ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า
จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือ จิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า
จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน..ฯลฯ
[๓๓๕] ภิกษุนั้น เมื่อจิตตั้งมั่น ฯลฯ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เธอ
ย่อมน้อมย่อมโน้มจิตไปเพื่อหยั่งรู้การจุติและการเกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลาย เธอ
เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม
ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เกินจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งสัตว์
ทั้งหลายผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต ว่าร้ายพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดการกระทำด้วยอำนาจ
มิจฉาทิฏฐิ สัตว์เหล่านั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ก็เข้าถึงอบายทุคติ
วินิบาต นรก... ฯลฯ
ถึงหลวงพ่อจะสอนวิธีการบรรลุธรรมอย่างละเอียดลออ
บอกกันอย่างถึงแก่นกันทีเดียว ไม่ใช่บอกแต่เปลือก
สอนกันอย่างไม่หวงวิชชาความรู้ไม่มีขยักกั๊กไว้แม้สักน้อย
สำหรับคนที่ยังไม่ได้ ท่านก็ให้เจริญอิทธิบาท ๔ ท่านอธิบายไว้ ดังนี้
อิทธิบาท ๔ เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จทั้งมวล ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ
จิตตะ วิมังสา แปลอย่างจำได้ง่ายว่า ปักใจ บากบั่น วิจารณ์ ทดลอง
ไม่ว่าจะทำกิจการใด ถ้าประกอบด้วย ๔ อย่างนี้ เป็นสำเร็จทั้งสิ้น
ว่าโดยเฉพาะในการบำเพ็ญภาวนา
๑) ต้องปักใจรักการนี้จริง ๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว
๒) ต้องบากบั่น พากเพียรเอาจริงเอาจัง การทำใจให้หยุดเป็นของทำได้ยากแก่บุคคลผู้เกียจคร้านคนมีความเพียรทำไม่ยาก
๓) วิจารณ์ ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามแนวสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด
๔) ทดลอง ในที่นี้ได้แก่หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่าวิธีการที่ทำไปนั้น มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไข อย่างนั้นไม่ดี
เปลี่ยนอย่างนี้ลองดูใหม่ เช่นนั่งภาวนาในที่นอน มักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น
ข้อสำคัญให้ยึดแนวสอนเป็นหลักไว้ อย่าออกนอกทาง ๔ อย่างนี้
เรียกว่าอิทธิบาท เป็นเครื่องที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในกิจทั้งปวง
ท่านปรารภเรื่องความเพียร อันเป็นข้อ ๒ ของอิทธิบาท ๔ เสมอว่า
วัน คืน เดือน ปีล่วงไป ๆ มิได้ล่วงไปแต่วัน คืน เดือนปีเปล่า ๆ
ชีวิตของเราล่วงไปตามวัน คืน เดือน ปีนั้นไปด้วย
ชีวิตที่เป็นอยู่ร้อยปีพอหมดไปเสียวันหนึ่ง ก็ขาดร้อยปีไปวันหนึ่ง
แล้วลดคืนหนึ่ง ผ่านร้อยปีไปแล้วคืนหนึ่ง แล้วหมดเสียวันกับคืนหนึ่ง
ขาดร้อยปีไปวันกับคืนหนึ่งแล้ว อย่างนี้เรื่อยไป เมื่อวัน คืน เดือน
ปีล่วงไปเท่าไร ชีวิตก็หมดไปเท่านั้น
ท่านให้หมั่นยึดถือสุภาษิตนี้ แล้วจะหลุดพ้นได้เร็ว
“ ด้วยความหมั่นมั่นใจไม่ประมาท
รักษาอาตม์ข่มใจไว้เป็นศรี
ผู้ฉลาดอาจตั้งหลักพำนักดี
อันห้วงน้ำไม่มีมารังควาน ”
คำว่าห้วงน้ำ
หลวงพ่อหมายถึงการวนเวียนอยู่ในภพด้วยอำนาจโอฆะกิเลส ๔ ประการ
ที่เปรียบเหมือนกระแสคลื่นท่วมทับครอบงำจิตใจสัตว์อยู่ทุกเมื่อ ได้แก่
กาโมฆะ โอฆะคือกาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ทิฏฺโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ
โอฆะคืออวิชชา
หลวงพ่ออธิบายถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของเบญขันธ์ว่า
รูปทั้งหลายไม่ว่าจะประณีตสวยงามหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม
ก็มาลงเอยที่อนิจจังด้วยกันทั้งสิ้น คือตายหมดไม่มีเหลือ
ไม่ว่าจะถือกำเนิดมาจากชั้นวรรณะใด ย่อมเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่อย่างนี้
มีแต่ความไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น
ถ้าจะหาความเที่ยงความสุขก็ต้องหาภายในกายมนุษย์เข้าไป
จนกระทั่งพบกายมนุษย์ละเอียด
แต่ในกายมนุษย์ละเอียดก็ยังไม่สามารถหาความสุขเที่ยงได้
ต้องเดินเข้าไปอีกในกายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ
กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด จนถึงการธรรม
พอเข้าไปพบการธรรมนั่นแหละ จะรู้สึกตัวเองทันทีว่า
นี่เองที่เที่ยงที่เป็นสุขจะเห็นสิ่งที่เที่ยงที่เป็นสุขในกายธรรม
หรือธรรมกายนี้เอง
เมื่อเข้าถึงกายธรรมแล้วใจคอที่เคยคับแคบก็เวิ้งว้างกว้างขวางสุข
สบาย ใครไปถึงกายธรรมได้ก็แจ่มใสเบิกบาน กายธรรมนี่เป็นของเที่ยง
การที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอะไร ๆ ไม่เที่ยงนั้น
จุดประสงค์ก็คือจะให้เข้าถึงกายธรรม จึงมีหลักว่านอกจากกายธรรมแล้ว
จะเป็นกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม
กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด เหล่านี้ต่างเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น คือต้องเวียนว่ายอยู่ในภพทั้ง ๓
จึงเป็นกายที่ยังไม่เที่ยง ยังต้องเป็นทุกข์อยู่
ต่อเมื่อเข้าถึงกายธรรมจึงเป็นนิจจัง สุขขัง อัตตาขึ้นทันที
เป็นของเที่ยง
เป็นสุขเป็นตัวตนทันทีเมื่อถึงกายธรรมละเอียดก็ยิ่งดีหนักขึ้น
กายธรรมพระโสดา พระโสดาละเอียดก็ยิ่งดีหนักขึ้น
เที่ยงหนักขึ้นสุขหนักขึ้นไม่มีถอย กายธรรมพระสกิทาคา
พระสกิทาคาละเอียดก็เที่ยงหนักขึ้น สุขหนักขึ้น กายธรรมพระอนาคามี
พระอนาคามีละเอียดก็ยิ่งเที่ยงหนักขึ้นสุขหนักขึ้น กายธรรมพระอรหัตต์
พระอรหัตต์ละเอียดก็ยิ่งเที่ยงทีเดียว สุขที่เดียวไม่แปรผันต่อไป
เป็นกายคงที่คงวา อุปมาเหมือนเสาเขื่อน
ย่อมไม่เขยื้อนไปตามอารมณ์โลกธรรมทั้ง ๘ คือ อิฏฐารมณ์ ๔ ได้แก่ ลาภ ยศ สุข
สรรเสริญ และอนิฏฐารมณ์ ๔ ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ทุกข์ ติฉินนินทา
ไม่สามารถทำให้ยุบลงหรือฟูขึ้นได้
หลวงพ่อท่านได้ยกพระพุทธภาษิตประกอบว่า
ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ฯ
จิตของบุคคลผู้ใด อันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว
ย่อมไม่หวั่นไหวไม่เศร้าโศก ไม่ยินร้ายไม่ยินดี ย่อมปราศจากความขุ่นมัว
เป็นแดนเกษมจากโยคะ ได้ชื่อว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ฯ
หลวงพ่อท่านให้คติธรรม วิธีการประสบผลสำเร็จด้านการปฏิบัติธรรม ตามขั้นตอนไว้ดังนี้
ประกอบเหตุ สังเกตผล สนใจเถิด ประเสริฐนัก
ประกอบในเหตุ สังเกตในผล สนใจเข้าเถิดประเสริฐดีนัก
ประกอบที่ในเหตุ สังเกตที่ในผล สนใจเข้าเถิด ประเสริฐยิ่งนัก
ทำใจให้ใสเท่านั้นแหละ เป็นใช้ได้
อิฏฐารมณ์เป็นที่นิยมชื่นชอบของทุกคนส่วนอนิฏฐารมณ์ไม่เป็นที่
นิยม ไม่เป็นที่ปรารถนา เราท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
เมื่อรู้จักอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เหล่านี้แล้วมีทางเลี่ยงได้โดยทำดังนี้
คือต้องบังคับจิตให้ดี ต้องตั้งจิตให้ดี
ถ้าตั้งจิตให้ดีถูกหลักถูกฐานของที่ตั้งจิตแล้ว
จะสามารถต่อสู้กับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ได้
ต้องหมั่นเอาใจจดจ่ออยู่ที่กลางกั๊ก
อันเป็นศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
ให้หมั่นเอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน กิน ดื่ม
จะทำ จะพูด แม้แต่จะอุจจาระ ปัสสาวะ ก็หยุดอยู่ตรงนั้นเสมอ จรดหนักเข้า ๆ ๆ
ๆ พอชินหนักเข้า ก็ชำนาญหนักเข้า ๆ ๆ ๆ ก็หยุดได้
พอใจหยุดเสียได้เท่านั้นแหละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ
เสื่อมยศ ติฉินนินทา ทุกข์ ไม่มีทางกระทบกระเทือนแล้ว เฉยเสียแล้ว
ถ้าทำจิตให้ได้ขนาดนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า
ถึงซึ่งมงคลสูงสุดแล้วถ้ายังอาดูรเดือดร้อนไปตามอนิฏฐารมณ์ เป็นอัปมงคลแท้ ๆ
หลวงพ่อย้ำว่า “อัปมงคลมิใช่เป็นแต่เฉพาะฆราวาส หญิง ชายเท่านั้น
ภิกษุ สามเณรก็เป็นได้เหมือนกัน พอสงบไม่ลง ทำใจให้หยุดไม่ได้
ก็เป็นอัปมงคล หลวงพ่อท่านเคยสอนพระสงฆ์ สามเณรว่า “ ภิกษุ
สามเณรในพระพุทธศาสนา พอบวชแล้วไม่ต้องทำอะไร
ทำใจให้ใสเท่านั้นแหละเป็นใช้ได้ ถ้าใจไม่ใส ภิกษุ สามเณรนั้นใช้ไม่ได้
ยังเป็นภิกษุสามเณรภายนอก ภายในเป็นไม่ได้
พอทำใจให้ใสได้เท่านั้นก็เป็นที่บูชาของมหาชนทีเดียว”
หลักการเจริญภาวนา สมถวิปัสสนากรรมฐาน
ทางพระพุทธศาสนามีวิชชา ๒ อย่างนี้เป็นข้อสำคัญนัก
บัดนี้ท่านทั้งหลายที่เสียสละเวลามา
ก็เพื่อมาเรียนสมถวิปัสสนาทั้งสองอย่างนี้
สมถะเป็นวิชชาเบื้องต้น พุทธศาสนิกชนต้องเอาใจใส่ คือ แปลความว่า สงบระงับใจ เรียกว่าสมถะ
วิปัสสนาเป็นขั้นสูงกว่าสมถะ ซึ่งแปลว่าเห็นแจ้ง เป็นธรรมเบื้องสูง เรียกว่าวิปัสสนา
สมถะวิปัสสนา ๒ อย่างนี้ เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกในทางพระพุทธศาสนา
ผู้พูดนี้ได้ศึกษามาตั้งแต่บวช พอบวชออกจากโบสถ์แล้วได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้น
อีกวันหนึ่งก็เรียนทีเดียว เรียนสมถะทีเดียว
ไม่ได้หยุดเลย จนกระทั่งถึงบัดนี้
บัดนี้ทั้งเรียนด้วย ทั้งสอนด้วย ในฝ่ายสมถะวิปัสสนาทั้ง ๒ อย่างนี้
สมถะมีภูมิแค่ไหน
สมถะ มีภูมิ ๔๐ คือ
กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐
อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑
อรูปฌาน ๔
ทั้ง ๔๐ นี้ เป็นภูมิของสมถะ
วิปัสสนามีภูมิ ๖
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒
ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒
อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทธรรม ธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ธรรมอาศัยซึ่งกันและกันดับไป
นี้เป็นภูมิของวิปัสสนา ภูมิสมถวิปัสสนาทั้ง ๒ นี้ เป็นตำรับตำราในทางพระพุทธศาสนาได้ใช้กันสืบมา
แต่ภูมิของสมถะที่เราจะพึงเรียนต่อไปนี้ เริ่มต้นต้องทำใจให้หยุด
จึงจะเข้าภูมิของสมถะได้ ถ้าทำใจให้หยุดไม่ได้ ก็เข้าภูมิสมถะไม่ได้
สมถะ เขาแปลว่าสงบ แปลว่าระงับ แปลว่าหยุด แปลว่านิ่ง ต้องทำใจให้หยุด ใจของเรานะ
อะไรที่เรียกว่าใจ ?
เห็นอย่างหนึ่ง
จำอย่างหนึ่ง
คิดอย่างหนึ่ง
รู้อย่างหนึ่ง
๔ อย่างนี้รวมเข้าเป็นจุดเดียวกัน นั่นแหละเรียกว่า ใจ
อยู่ที่ไหน ? อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ คือ
ความเห็น อยู่ที่ท่ามกลางกาย
ความจำ อยู่ที่ท่ามกลางเนื้อหัวใจ
ความคิด อยู่ท่ามกลางดวงจิต
ความรู้ อยู่ท่ามกลางดวงวิญญาณ
เห็น จำ คิด รู้ ๔ ประการนี้ หมดทั้งร่างกาย
ส่วนเห็น เป็นต้นของรู้
ส่วนจำ เป็นต้นของเนื้อหัวใจ
ส่วนคิด เป็นต้นของดวงจิต
ส่วนรู้ เป็นต้นของดวงวิญญาณ
ดวงวิญญาณ เท่าดวงตาดำข้างในอยู่ในกลางดวงจิต
ดวงจิต เท่าดวงตาดำข้างนอกอยู่ในกลางเนื้อหัวใจ
ดวงจำ กว้างออกไปอีกหน่อยหนึ่งเท่าดวงตาทั้งหมด
ดวงเห็น อยู่ในกลางกายโตกว่าดวงตาออกไป นั่นเป็นดวงเห็น
ดวงเห็นนั่นแหละ ธาตุเห็นมันอยู่ศูนย์กลางดวงนั้น นั่นแหละ
เรียกว่าเห็น เห็นอยู่ในธาตุเห็นนั้น
ดวงจำ ธาตุจำมันอยู่ในศูนย์กลางดวงนั้น
ดวงคิด ธาตุคิดมันอยู่ศูนย์กลางดวงนั้น
ดวงรู้ ธาตุรู้อยู่ในศูนย์กลางดวงนั้น
เห็น จำ คิด รู้ ๔ อย่างนี้แหละ เอาเข้ามารวมเป็นจุดเดียวกัน เรียกว่า ใจ
ของยากอย่างนี้ เห็นไหมล่ะคำที่เรียกว่า ใจ
นั่นแหละเวลานี้เรานั่งอยู่นี่ สอดไปถึงบ้านก็ได้
สอดไปถึงนรกก็ได้ สอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ สอดไปถึงนิพพานก็ได้
สอดใจไปได้ มันลึกซึ้งอย่างนี้เห็นไหมล่ะ ใจนี้เป็นของลึกซึ้ง
ถ้าว่ารู้แคบ ก็สอดไปได้แคบ
ถ้ารู้กว้าง ก็สอดไปได้กว้าง
ถ้ารู้ละเอียด ก็สอดไปได้ละเอียด
ถ้ารู้หยาบ ก็สอดไปได้หยาบ
แล้วแต่ความรู้ของมัน ความเห็นของมัน สำคัญนัก
คำที่เรียกว่า ใจ นี่แหละเราต้องบังคับให้หยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็น จำ คิด
รู้ สี่อย่างนี้ ต้องมารวมหยุดเป็นจุดเดียวกันอยู่กลางกายมนุษย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น