วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อัตตา-อนัตตา เป็นเรื่องของการปฏิบัติใช่หรือไม่ ???

เรื่องนิพพานเป็น อัตตา อนัตตา เป็นเรื่องของการปฏิบัติ
มาถกเถียงกัน มันไม่เกิดประโยชน์กับใครทั้งนั้น
เห็นมีผู้รู้ ? มากล่าวเรื่องนี้กันเยอะเหลือเกิน
วันนี้จะขอนำทรรศนะของหลวงพ่อธัมมชโยที่ท่านได้กล่าวไว้มาได้ศึกษากันบ้าง ว่าท่านได้กล่าวไว้อย่างไร
---------------------


บวชแล้วก็ต้องศึกษาคำว่า อัตตา กับ อนัตตา ให้ดี
ไม่อย่างนั้นยุ่งชะมัดเลย ที่จริงมันของง่าย ๆ นะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดตรง ๆ อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า แปลว่าอะไร

ในตัวเรามีทั้งอัตตา และอนัตตา
บวชเพื่อหาอัตตาในอนัตตา

วัตถุประสงค์การบวชเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
เพื่อแสวงหาอัตตา แต่อัตตาอยู่ในอนัตตา

ที่ทะเลาะกันอยู่ เพราะแปลไม่เหมือนกัน

อนัตตา พวกหนึ่ง แปลว่า ไม่มีตัวตน
อีกพวกหนึ่ง แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน

พวกแปลว่า ไม่มีตัวตน จึงโยงไปถึงพระนิพพานสูญ คือไม่มีอะไรเลย

ที่แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็ว่า นิพพานยังมีอยู่ เป็นที่รองรับผู้บริสุทธิ์
เป็นอายตนะหนึ่งที่ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกไหน ไม่มีการไป ไม่มีการมา
ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน มีแต่นั่งอย่างเดียว ไปอ่านดูเถอะในพระไตรปิฎก

ถ้า "อนัตตา" แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน
แล้ว อมนุษย์ เราจะแปลว่าอะไร ไม่มีมนุษย์ หรือแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์

สมมติเราไปเจอตัวอะไรคะยึกคะยือในห้องน้ำ รูปร่างอย่างนั้น
อมนุษย์ จะแปลว่า ไม่มีมนุษย์ หรือจะแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์ ก็ต้องแปลว่า ไม่ใช่มนุษย์

เพราะฉะนั้น อวิชชา ก็แปลว่า ไม่ใช่วิชชา ไม่ได้แปลว่า ไม่มีวิชชา

หรือ อรูปพรหม แปลว่า ไม่ใช่รูปพรหม แปลว่า ไม่มีรูปพรหมก็ไม่ใช่ หรือพรหมไม่มีรูปก็ไม่ใช่อีก
แต่แปลว่า ไม่ใช่รูปพรหม จึงเรียกว่า อรูปพรหม เพราะหน้าตาคล้าย ๆ กัน ระหว่างรูปพรหมกับอรูปพรหม
ไม่รู้จะเรียกอะไรก็เลยเรียกว่า ไม่ใช่รูปพรหม ไม่ได้แปลว่า ไม่มีรูปพรหม เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับแปลตรงนี้

ทีนี้ “อนัตตา” ที่แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะอะไร

เพราะถ้าเราเป็นตัวของเรา (อัตตา) เราก็ต้องเป็นอิสระ
บังคับบัญชาอะไรได้ เป็นตัวของตัวเอง
จะนึกอะไรมันก็สมปรารถนาทุกอย่าง แต่นี่มันไม่อย่างนั้น
จะนึก จะคิด จะพูด จะทำอะไร มันไม่เป็นอย่างที่เราปรารถนา
จึงเรียกว่า ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ไม่ได้แปลว่า ไม่มีตัวตน

เหตุเพราะไม่เป็นอิสระ ไม่ใช่ตัวตนนี้แหละ จึงเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ
เพราะไม่ได้ดังใจ เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เดี๋ยวเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นโน่น อยู่ตลอดเวลา
ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
ตอนช่วงไหนประมาทในชีวิต ไม่คิดทำบุญ ชีวิตก็ตกต่ำ
ตอนช่วงไหนไม่ประมาทหมั่นสั่งสมบุญชีวิตก็สูงส่ง ก็จะมีขึ้นมีลง
มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ จึงมีคำว่า อนิจจัง แปลว่า ไม่คงที่ มีขึ้นมีลง เดี๋ยวเป็นโน่นเป็นนี่สารพัด

กายมนุษย์ ไม่ใช่ตัวตน จึงเป็น อนัตตา ไม่ได้แปลว่า กายมนุษย์ไม่มีตัวตน
ก็นี่ไงมีแขน มีขา มีหัว แต่มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จึงอย่าไปยึดมั่น อย่าไปผูกพันกับมัน

ร่างกายเราเป็นแค่ทางผ่านให้ไปถึงตัวตนจริง ๆ
ที่เป็น อัตตา ที่เป็นตัวตนเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นอิสระ
พ้นจากการถูกบังคับบัญชาจากกิเลสอาสวะ จากกฎแห่งกรรม มันพ้นแล้ว
จึงเป็นแหล่งแห่งความสุข จึงมีคำว่า นิจฺจํ สุขํ อตฺตา

เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า แปลว่าอะไร เพราะแปลไม่เหมือนกัน จึงทะเลาะกัน

และที่แปลไม่เหมือนกัน เพราะประสบการณ์ภายในไม่เหมือนกัน
และที่ประสบการณ์ภายในไม่เหมือนกัน เพราะ

๑. ไม่ปฏิบัติ แต่เป็นนักคิด คิดโน่น คิดนี่ไปเรื่อยเปื่อย
๒. ปฏิบัติ แต่ผลแห่งการปฏิบัติ ความหยาบความละเอียดของการปฏิบัติไม่เท่ากัน
ก็เอาที่ไม่เท่ากันมาสรุปว่า มันคืออย่างนี้ ๆ ก็เลยเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน

ทีนี้ถ้าจะให้เท่ากัน มันต้องหมดกิเลสเหมือน ๆ กัน
ยกตัวอย่าง ตอนก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไม่กี่นาที
พระองค์ถาม มีใครสงสัยอะไรบ้าง ตรงนั้นมีแต่พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว
ถึงจุดอันเดียวกันไปแล้วหมดสงสัยแล้ว ไม่มีใครสงสัย

เพราะฉะนั้น อัตตา อนัตตา มันก็ตื้น ๆ แค่นี้
เราอย่ามาทะเลาะกันเลย ไปปฏิบัติกันเถิด
แล้วทำประสบการณ์ให้เท่า ๆ กัน
นี่ของตื้น ๆ เราคิดตื้น ๆ ก็ชื่นใจแล้ว เหมือนเดินในน้ำตื้น ๆ ยังชื่นใจ

ที่ว่า อัตตาอยู่ในอนัตตา คือ พระธรรมกายนั่นแหละคือ อัตตา อยู่ในร่างกายที่เป็นอนัตตา
เราก็ทะลวงอนัตตาเข้าไปถึงอัตตา เดี๋ยวเราก็จะรู้ว่าอันไหนอัตตา อันไหนอนัตตา
จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน

DSI + เผือกร้อน + กองเชียร์ + สื่อ + ท่าทีของวัดพระธรรมกาย



ผมเฝ้าดูเหตุการณ์บนโซเชียล พันทิบ และข่าวสารที่ผ่านมา ตลอดช่วงเวลาที่ DSI เริ่มนำคดี สหกรณ์คลองจั่นยกระดับเป็นคดีฟอกเงิน

อินเทอร์เนต เป็นสังคมที่ยุคที่ใครก็ได้ อายุเท่าไหร่ มีความรู้เรื่องที่จะพูดหรือไม่ มีอคติเจตคติหรือไม่ มีอิสระที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งเรื่องดีและเรื่องที่ต้องระวัง

ผมเข้าวัดพระธรรมกายนะครับ (อ่ะมีบางคนตั้งท่าจะมาถากถาง แต่ขอให้อ่านให้จบสักนิดและมาคุยอย่างอารยะนะครับ)
ที่นี่สอนให้เข้าทุกวัดผมก็เข้าทุกวัดเคารพในพระรัตนตรัยยิ่งชีวิต และสอนให้มุ่งตรงสู่พระนิพพาน ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยจะไปทางตรงนัก หลวงพี่ชวนผมบวชตลอดชีวิตตลอดให้บำเพ็ญเนกขัมบารมี แต่ผมขอเป็นฆราวาสที่ดีแล้วกันนะครับหลวงพี่ บุญยังไม่ถึงแต่จริงๆ ยังมีกิเลสอยู่ 555

เอาล่ะมาเข้าเรื่อง ว่าทำไมเหตุการณ์มันบานปลายมาขนาดนี้
DSI (Department of Special Investigation) เป็นหน่วยงานที่วัตถุประสงของการจัดตั้งดี แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หน่วยงานดีไม่ได้แปลว่าคนคุมหน่วยงานจะดีอธิบดีคนที่แล้วก็มีปัญหาไม่โปร่งใส ส่วนคนที่เข้ามาดูแลคดีความนี้ที่ถูกจัดตั้งมาคือคุณไพบูลย์ นิติตะวันและมีที่ปรึกษาเป็นดร.มโน รวมถึงมี พระพุทธอิสระ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ด้วยความสงสัยว่าบุคคลที่มีอคติเป็นตัวขับเคลื่อนจะทำให้คดีเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้อย่างไร หากคนข้างบ้านเกลียดคุณพ่อคุณมากๆและเขาดันเป็นอัยการหรือตำรวจเวลามีกรณีพิพาทคุณจะส่งพ่อคุณให้กลุ่มคนเหล่านี้ดำเนินคดีไหม คุณจะกังวลไหมผมกังวลนะ

... การทำคดีที่อะเอียดอ่อนกว่ากรณีทั่วไปแบบนี้ทำไมต้องรวบรัดและใช้สรรพกำลังขนาดนี้ ทั้งๆที่พระที่บอกให้ช่วยไปดูอาการท่านในวัดได้เพราะท่านป่วยจริงแต่ท่านไม่เข้าไปพิสูจน์ เป็นผมๆก็ไม่ออกไปหรอกมันเสี่ยง นอกจากเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายจากความเจ็บป่วย ยังต้องมาเสี่ยงจากสิ่งอื่นที่มองไม่เห็นในยุคที่คนตายได้ๆง่ายๆจากการติดเชื้อในกระเเสเลือด หรืออาจโดนกระตุกผ้าเหลือง เพราะฉะนั้นอย่าได้เร่งรัด ไปแจ้งข้อหาได้ ส่งแพทย์เข้าไปได้ รอให้หายป่วยก่อนได้ไหม คุณคงไม่ยอมให้คนข้างบ้านที่เกลียดพ่อคุณมาพาตัวพ่อคุณไปหรอก เราน่าจะเหมือนกัน

ตอนนี้ ผมว่า DSI น่าจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมาก เพราะ"เผือกมันร้อน" มันเลยต้องจบไว ใครก็ไม่กล้ารับ นายกบอกเรื่องเล็ก DSI ไปจัดการเองเรื่องศาสนาไม่อยากยุ่ง คนที่ปฏิบัติเขาก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องเลือกปฏิบัติ คนเคารพสมเด็จช่วงว่าที่พระสังฆราช ที่ท่านไปหาเรื่องหาราวชลอไม่ให้ท่านได้ขึ้นทั้งที่มีมติจากสังฆมลฑลออกมาตั้งแต่เดือนมกรา ด้วยเรื่องรถในพิพิธภัณฑ์ แล้วยังไปให้โยนเผือกไปให้ท่านอีก ... กล้าที่จะเล่นเกมส์ที่ละเอียดอ่อนขนาดนี้ ไม่มีใครเค้าไปด้วยสุดทางหรอกครับ

ส่วนที่เห็นออกมาเชียร์การทำงานของ DSI จะให้เข้าบุกทลายไปจับให้ได้ ยุให้ตัดน้ำตัดไฟ (แปลกนะครับเค้าอยู่ในบ้านเขาไม่ได้ไปยึดสถานที่ราชการสนามบิน แต่พวกคุณยุกันให้ทำแบบนี้มันเข้าข่ายทำลายสิทธิมนุษย์ชนไปหน่อยไหม มีเรื่องแบบนี้ในกมลสันดานได้อย่างไร) ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญ ส่วนใหญ่เป็น Hate Speech ด่าไว้ก่อน ด่าทุกเรื่อง บางคนหยาบคายสิ้นดีว่าไหม หาว่าไม่ป่วยจริง หาว่าภาพตัดต่อเป็นขาใครไม่รู้ หาว่าจะหนีไปอยู่กับเณรคำ เอารูปมาล้อเลียน ก็รู้นะว่ากระเเสมันแรงและอยากมีตัวตนในสังคมมีคนมากดไลท์เยอะ มันพิมพ์ง่ายนะ แต่ผลมันยาว ... เรายอมรับคนไม่ชอบแนวทาง แต่เล่นด่ากันแบบหาความจริงไม่ได้เนี่ย ผมว่ามันเกรียนไปนะ

"สื่อ" สถานการณ์นี้วัดคุณภาพของสื่อหลายสื่อเลยทีเดียวครับ (อันนี้ผมไม่รวม DMC นะครับเพราะไม่ได้เเสวงหากำไรและเป็นสื่อวัดผมหมายถึงสื่อที่เป็นสื่อกลาง) ไม่ต้องมาเขียนเชียร์วัดหรอกครับ แต่เป็นวิธีการตั้งข้อสังเกตุต่างหากที่ทำให้แยกแยะออก หรือลักษณะของคำถาม ถ้าพิธีกรมีธงในใจเเล้วแสดงท่าทีออกมาแล้ว ไม่ว่าคุยเรื่องอะไรก็คงไม่น่าฟัง หลายสื่อทำออกมาได้ดีทีเดียว เดี่ยวนี้สื่อทีวีที่อยู่ในช่องหลักดีหมดเลยครับถือว่าระดับมาตรฐานดีอาจเป็นเพราะผ่านเรื่องราวมายาวนานทำให้ไม่มีการออกตัวเเรงจนต้องมาตามแก้กันทีหลัง แต่ช่วงดาวเทียมหลายช่องน่าจะคงเป็นเป็นสื่อเลือกข้างอยู่ ส่วนหนังสือพิมพ์ยังเหมือนเดิมขายพาดหัวมีบทเรียนมาเเล้วไม่ค่อยจำกัน ออกตัวเเรงเวลาพิมพ์มาขอโทษอยู่ไหนไม่รู้หาเเทบไม่เจอ

"ท่าทีของวัดพระธรรมกาย" ไม่มีอะไรมากหรือซับซ้อนครับ หลวงพ่อป่วยและอยู่ที่วัดแน่นอน มีคนไปวัดปกติถ้าบุกมาไม่รู้ว่าจะเอาอะไรไปสู้ แต่ภาพคงออกมาไม่สวย ผมนึกภาพยิ่งแก๊ซน้ำตาไปที่พระเเล้วคงอนาถน่าดู พระเป็นพันท่านก็อยู่ของท่าน อุบาสกอุบาสิกาเป็นพัน คนปฏิบัติธรรมเป็นหมื่นอยู่ในนั้น อยู่ในที่ตั้งมั่นของท่าน ไม่ได้ไปยึดสถานที่ใครให้ต้องมาปฏิบัติการณ์ 2000 คน หวังว่าจะมีคนในหน่วยงาน DSI ฉลาดๆและมีธรรมะและเป็นกลางมาทำให้สถานการณ์ไม่แย่ไปกว่านี้เรายินดีให้ความร่วมมือ เราจะได้ปฏิบัติธรรมและเสริมสร้างคนดีๆให้กับสังคมต่อไป

บุญรักษาผู้ประพฤติธรรม

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระทำอาหารได้ด้วยหรือ ? แล้วหลวงจีนทำอาหารได้ยังไง ?

ผมเป็นคนนึงที่มีคำถามในใจว่า

พระทำอาหารได้หรือไม่ ?
ทำไมหลวงจีนทำอาหารได้ ?
พระที่3จังหวัดชายแดนได้อาหารแห้งแล้วจะนำไปฉันยังไง ?


เราอาจจะเคยเห็นในหนังกำลังภายใน
ที่มีพระเอกไปฝึกวิชากับหลวงจีนเส้าหลินโดยเริ่มต้นจากหั่นผักในครัว



แต่ว่าสำหรับพระเถรวาทอย่างในประเทศไทย พระทำอาหารได้หรือไม่
คำตอบในใจค่อนข้างจะชัดเจนว่าไม่ได้เพราะ ... ไม่เคยเห็น
ที่ผ่านมาเห็นแต่พระบิณฑบาต จึงลองไปหาข้อมูลในพระวินัยได้ความว่า



กัปปิยะ   = สมควรกับสมณะสารูป เช่น ปัจจัยสี่
อกัปปิยะ = ไม่สมควรกับสมณะสารูป


แล้วหลวงจีนทำอาหารได้ยังไง ?




พอค้นต่อไปอีกหน่อย พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ
ช่วงที่เกิดทุกขภิกขภัยข้าวยากหมากแพงในกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้
- เก็บอาหารค้างคืนในที่อยู่
- ให้หุงต้มอาหารในที่อยู่
- ให้หุงต้มเองได้
แต่เมื่อบ้านเมืองกลับสู่สภาพปกติ ก็ทรงยกเลิกข้อยกเว้นเรื่องทุพภิกขภัย



หลังจากเอาข้อมูลมารวมกับที่เคยฟังพระเทศน์เรื่องกุศโลบายในพระพุทธศาสนาทางฝ่ายมหายาน
ท่านเล่าให้ฟังว่าในจีนวัดส่วนใหญ่อยู่บนยอดเขาเดินทางลำบาก
ประกอบกับในช่วงแรกคนจีนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา
จึงมีกลุ่มโจรมาคอยปล้นระหว่างทางทำให้การเดินทางมาบิณฑบาตไม่ปลอดภัยทั้งของพระและโยม

คาดว่าท่านคงจะอุปมาว่านี่ก็เป็น ทุพภิกขภัย เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างหนึ่ง
เลยไปดึงข้อยกเว้นที่พระพุทธเจ้าริบคืนไปแล้วกลับมาใช้ใหม่
จากนั้นก็ทำต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้



พอได้ฟังเคสของพระในจีนแล้ว ทำให้มองกลับมาที่สถานการณ์ใกล้ตัว เรื่องพระทำอาหาร
เห็นหลายๆหน่วยงานเขาจัดตักบาตร ได้ข้าวสารอาหารแห้ง ส่งไปช่วยเหลือ
วัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส



เมื่อมีผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้พระไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ตามปกติ

ถึงแม้จะไม่เรียกว่า ทุพภิกขภัย แต่ก็น่าจะประเมินได้ว่า
อยู่ในสถานการณ์ที่มีความอันตรายต่อชีวิต คงพออนุโลมได้เหมือนกัน
เพราะถ้าจะให้เลือกระหว่างออกไปบิณฑบาตแล้ว เสี่ยงทั้งพระและโยม (ทหารที่คอยเดินตามด้วย) กับ ปลงอาบัติ 
การเลือกในวิธีการอย่างหลังน่าจะเหมาะกว่านะครับ




เขียนไปเหมือนจะเริ่มต้นที่พระไตรปิฏก แล้วมาจบด้วย ความไม่สงบได้ยังไงก็ไม่รู้
ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับ
(เห็นข้อมูลใน blog น่าสนใจเลยเอามายำรวมกับสถานการณ์ใกล้ตัวในปัจจุบันดูซะหน่อย)


ข้อมูลจาก

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/5.3.html
http://www.dhammahome.com/webboard/topic3762.html
http://www.84000.org/tipitaka/read/?5/49

พุทธในไทยจะรุ่งหรือจะสูญ



ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ 31 ธันวาคม 2552 แสดงไว้ว่า
ประชาชนไทยมี 67,422,887 คน
จากการสำรวจการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ปี 2548
มีพุทธศาสนิกชน 46,902,100 คน
คิดเป็น 69.56%





>>หลายคนคงสงสัย เพราะเคยทราบว่าชาวพุทธไทยมีประมาณ 94% ทำไมสำนักงานสถิติแห่งชาติจึงบอกว่า เหลือเพียง 69%

>> ความจริงคือ ตัวเลข 94% นั้นเป็นชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน แต่เขาสำรวจจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม คือ ถ้าคนนั้นๆ แม้ทะเบียนบ้านจะเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าหากตั้งแต่เกิดมาไม่เคยสวดมนต์ นั่งสมาธิ ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยทำบุญผ้าป่า กฐิน ไม่เคยเข้าวัด ฟังเทศน์ เขาไม่นับ

>> เมื่อได้ตรวจสอบอย่างนี้แล้วพบว่า เหลือคนที่ยังพอเคยเข้าร่วมกิจกรรมพุทธอยู่ 69% ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นชาวพุทธที่แข็งแรงนัก อาจเคยทำกิจกรรมพุทธบ้างตามประเพณี 1-2 ครั้ง

>> แท้ที่จริงชาวพุทธที่ตื่นตัว ตั้งใจรักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิจริงๆ อาจเหลือเพียงราว5 % เท่านั้นก็เป็นได้

>> ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเดี๋ยวนี้ปัญหาสังคมมีมาก อาชญากรรมหลากหลาย ยาเสพติดเกลื่อนเมือง คนไทยดื่มเหล้ามากติดอันดับ 5 ของโลก

>> เมื่อชาวพุทธไทยโดยรวมเป็นอย่างนี้ และศาสนิกอื่นก็ทุ่มเททำงานเผยแผ่ศาสนาของตนอย่างเต็มกำลัง จึงน่าคิดว่า
__อนาคตพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ? **
__เราจะเป็นเหมือนอินเดีย ที่พระพุทธศาสนาสาบสูญไปหรือไม่? **

ทางแก้ คือ

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก

ดังครั้งพุทธกาล เมื่อตรัสรู้ธรรม ทั้งโลกมีชาวพุทธเพียง 1 ท่าน คือ พระพุทธเจ้า
จากนั้นพระองค์ไปโปรดปัญจวัคคีย์ จึงเกิดพระสงฆ์ขึ้น ทำให้พระรัตนตรัยครบ 3 ทั้ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ราว 5 เดือน หลังตรัสรู้ธรรม พระองค์ได้ประชุมพระอรหันต์สาวก 60 รูปแรกของโลก และประทานโอวาท ความตอนหนึ่งว่า

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่มหาชน
เพื่อความเอ็นดูแก่โลกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เธอจงไปคนเดียวหลายๆทาง อย่าไปทางเดียวหลายๆคน สัตว์โลกผู้มีธุลีในดวงตาน้อย
ผู้จักอาจรู้ทั่งถึงธรรมนั้นมีอยู่ เขาเหล่านั้นย่อมเสื่อมจากคุณที่พึงได้พึงเห็นเพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม
แม้ตถาคตก็จะไปสู่อุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน ”



ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติแก่มวลสาวกแต่นั้นมา
จากพุทธโอวาทนี้เราจะเห็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าทรงให้เผยแผ่เชิงรุก
พระองค์ไม่ได้ให้นั่งรอคนที่วัด แต่ให้เที่ยวจาริกออกไปเผยแผ่ธรรมะสั่งสอนชาวโลก
และเนื่องจากพระสงฆ์ 60 รูปแรก เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด สามารถคุ้มครองตนเองได้
กิจในการปราบกิเลสของตนทำเสร็จแล้ว พระองค์จึงให้ไปคนเดียวหลายๆทาง เพื่อเผยแผ่ให้ได้กว้างขวางที่สุดนั่นเอง



>>การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีทางทำได้แน่นอน
เพราะรากฐานทางพระพุทธศาสนาฝังลึกในไทยมากว่าสองพันปี
ชาวพุทธไทยมีความผูกพันกับพระพุทธศาสนา แม้ไม่ค่อยได้เข้าวัด
ไม่ค่อยได้รักษาศีล นั่งสมาธิ แต่ก็ยังศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา อยากให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง
ผู้คนมีศีลธรรม สังคมสงบร่มเย็น

>> ชาวพุทธที่ตื่นตัวทุกกลุ่ม จึงต้องเร่งขวนขวายทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง อย่าอยู่เฉยๆ ต้องทำกิจกรรม อาทิ

- จัดบวชพระ บวชเณร
- จัดทำบุญตักบาตร
- จัดสวดมนต์
- จัดคอร์สนั่งสมาธิ
- จัดการแสดงธรรม
- จัดตอบปัญหาธรรมะ
- จัดงานสังคมสงเคราะห์หรือ จิตอาสาต่างๆ
- จัดสัมมนาทางวิชาการ
ฯลฯ





ใครถนัดอะไรก็ให้ทำสิ่งนั้น ขอให้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ก็ถือว่าดีทั้งนั้น
เพราะคนเรามีจริตไม่เหมือนกัน ใครชอบแบบไหนก็ไปร่วมกิจกรรมแบบนั้น
ถ้าทุกคนทุกวัด ทุกองค์กรขวนขวายช่วยกันทำกิจกรรมพุทธที่ตนมีความถนัด

>>ภาพรวมพระพุทธศาสนาจะเกิดความคึกคัก ปลุกกระแสชาวพุทธให้ตื่นตัวหันมาสนใจพระพุทธศาสนา
ภาพลักษณ์พระพุทธศาสนาจะดีขึ้น
แต่ถ้าชาวพุทธที่ตื่นตัว ซึ่งมีจำนวนไม่มากมายอะไร ยังมาทะเลาะกัน โจมตีกันเองอีก
ทำให้เกิดความแตกแยก ผู้คนก็จะเบื่อหน่าย พระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมสูญไปในที่สุด

>> อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรมากกว่าอังกฤษหลาย 10 เท่า
แต่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็เพราะอังกฤษใช้วิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง
ยุให้แคว้นต่างๆ ของอินเดียทะเลาะรบกันเอง แล้วค่อยๆ รุกคืบยึดทีละแคว้นจนยึดอินเดียได้ทั้งประเทศ



>> ดังนั้นชาวพุทธไทยอย่าตกในหลุมพรางทะเลาะกันเอง ขอให้สามัคคีกัน
ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก ให้พระพุทธศาสนาสถิตสถาพรคู่ชาติไทยไปชั่วกาลนาน
นำสันติสุขความร่มเย็นมาสู่สังคมไทยเถิด

อย่าเอาตัวเองไปวัดหัวใจพระโพธิสัตว์ ท่านทุ่มสร้างบารมีด้วยชีวิต

การทำความดี สั่งสมบุญบารมีนั้น มีความเข้มข้นหลายระดับ ดังนี้

1. ทำบุญ __คือ การทำความดีของบุคคลโดยทั่วไป
2. สร้างบารมี__คือ การทำบุญแบบเข้มข้น
3. อุปบารมี__คือ การสร้างบารมีที่เข้มข้นมากขึ้น ระดับยอมสละอวัยวะได้
4. ปรมัตถบารมี__คือ การสร้างบารมีที่เข้มข้นสูงสุด ระดับยอมสละชีวิตได้

>>นักสร้างบารมีผู้มุ่งหวังผลที่สูง เช่น พระโพธิสัตว์ ท่านจะมีใจที่ใหญ่มาก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ในสิ่งดีๆอย่างอุทิศชีวิต และทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่นานๆทำที ทำชนิดคนธรรมดาคาดฝันไม่ถึงเลย

@ตัวอย่างการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า@
>>ชาติหนึ่ง พระพุทธเจ้าของเราขณะสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ บวชเป็นดาบส
ยืนอยู่บนหน้าผามองลงไปเห็นแม่เสือหิวโซกำลังจะกินลูกตัวเอง พระองค์ยอมกระโดดลงไปให้เสือกิน
เพื่อช่วยชีวิตลูกเสือ โดยอธิษฐานจิตว่า** ขอบุญนี้ส่งผลให้ข้าพเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
สมัยพระองค์เกิดเป็นพระเวสสันดร ยอมยกพระโอรสพระธิดา คือ กัณหา กับ ชาลี ให้กับพราหมณ์ชูชก
แต่ก็วางแผนการไว้จนชูชกนำกัณหากับชาลี ไปถวายพระเจ้าตา เพื่อรับเงินแทน
แม้พระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะก็เสด็จออกบวชในวันที่พระโอรส คือ เจ้าชายราหุลประสูตินั่นเอง
เมื่อบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ธรรมแล้วก็กลับมาโปรดพระญาติ พระเจ้าสุทโธทนะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระนางพิมพาสุดท้ายก็ได้บวชบรรลุธรรมเป็นพระอรหันตเถรี เจ้าชายราหุลก็บวชเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
และเป็นสามเณรอรหันต์ แม้พระราชมารดาจะสวรรคตแล้ว พระองค์ยังเสด็จตามไปโปรดถึงบนสวรรค์จนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน




>>หากใครไม่เข้าใจ ใช้ความรู้สึกของตัวเองไปวัดการสร้างบุญบารมีของพระโพธิสัตว์
แล้วหลงไปตำหนิท่านว่าทำมากเกินไป โง่ หลงบุญ บ้าบุญ ทิ้งลูกทิ้งเมียออกบวช เราลองคิดดูว่า
คนๆนั้นจะมีวจีกรรมแบกบาปหนักขนาดไหน มีนรกเป็นที่ ไปไม่คุ้มเลย

>>ใจของเราหากยังอยู่ที่ระดับการทำบุญขั้นแรกทำแบบเล็กๆน้อยๆทั่วไป
เมื่อเห็นคนอื่นเขาทำความดีอย่างอุกฤษฏ์ไม่ใช่ไปตำหนิเขา แต่ควรอนุโมทนา เราจะได้บุญด้วย

>>การทำความดีจริงๆแล้วไม่มีคำว่าทำมากเกินไป อยู่ที่หัวใจของคนๆนั้นมีเป้าหมายชีวิตที่สูงส่งเพียงใด

>>จะวัดว่าดีหรือไม่ดี ไม่ได้ดูที่ว่าทำมากไปไหม แต่ดูที่สาระของการกระทำ ถ้าเป็นเรื่องดี ก็คือดี ยิ่งทำมากยิ่งดี

การให้ทาน¬¬__อย่างอุทิศได้แม้ชีวิต เป็นสิ่งควรอนุโมทนา
การรักษาศีล__โดยยอมตายไม่ยอมละเมิดศีล เป็นสิ่งควรอนุโมทนา
การเจริญภาวนา__โดยทำสมาธิอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นสิ่งควรอนุโมทนา

@ตัวอย่างนักสร้างบารมียุคปัจจุบัน@

แม้ในยุคใกล้ๆของเรานี้ ก็มีพระเถระผู้บวชอุทิศตนสร้างบารมีอย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันหลายรูป
ซึ่งในช่วงแรกทุกท่านจะถูกเข้าใจผิด ถูกโจมตีต่างๆนานาเหมือนกัน
เพราะการสร้างบารมีอย่างเอาจริงเอาจัง ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันที่ทำนั้น__เป็นสิ่งที่สังคมไม่คุ้นเคย**
จึงถูกระแวงสงสัย จับผิด โจมตี แต่ด้วยความหนักแน่น อดทน ไม่หวั่นไหวทำความดีอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายสังคมก็ยอมรับสิ่งที่ท่านเหล่านี้ได้ทำ สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนามากมาย อาทิ
1. พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
2. หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ
3. ครูบาศรีวิชัย
4. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)
5. ท่านพุทธทาส
ฯลฯ

ผู้มีปัญญาเพียงพินิจดู ก็จะรู้ว่า สิ่งที่ท่านเหล่านั้นทำต้องทำด้วยชีวิต ผู้มีเจตนาทุจริต
ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ศาสนสถานและศาสนบุคคลที่ท่านสร้างก็จะเป็นสมบัติของแผ่นดินและพระพุทธศาสนาสืบไป

>>ผู้มีเจตนาไม่สุจริต มักจะอยู่ไม่ได้นาน ก็จะมีเหตุให้ต้องออกไป
ยากที่จะยืนหยัดทำความดี โดยไม่หวั่นไหวต่อคำติฉิน นินทาใดๆ

>>คนในโลกนี้ส่วนมากคิดถึงตนเองก่อน ถ้าเป็นเพื่อผลประโยชน์ตนเอง
ก็ทุ่มเทเต็มที่แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมก็ทำเล็กๆน้อยๆ เหยาะแหยะ
ผู้ที่มีใจใหญ่เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี ใหม่ๆจึงมักถูกมองว่าทำอะไรใหญ่โตเกินไป
คงมีวัตถุประสงค์แอบแฝง มองกันไปในแง่ร้าย

>>เราชาวพุทธเมื่อเห็นพระภิกษุรูปใดตั้งใจทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง
แม้เริ่มต้นเราอาจจะไม่เห็นด้วยในวิธีการ หรือรูปแบบก็อย่าเพิ่งไปตำหนิหรือด่าว่า
เพราะจะกลายเป็นวิบากกรรม คนที่ไปด่าพระภิกษุที่ทำความดีอย่างอุทิศชีวิตเหมือนพระโพธิสัตว์ผลกรรมนั้นน่ากลัวมาก

>>ตรงกันข้ามใครชอบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบไหน ก็ไปชวนคนให้มาปฏิบัติแบบที่ตัวเองชอบ
อย่าเอาเวลา สติปัญญา ความสามารถของเราไปใช้ในทางทำลาย ก่อบาป
แต่ให้เอามาใช้ในทางสร้างสรรค์กันดีกว่า จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าตัวเราก็จะได้ไม่มีกรรมหนักติดตัวด้วย

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แนวทางการสอนของพระพุทธเจ้า

>>มีบางคนเข้าใจผิดว่า การสอนว่า     “ทำดี ตายแล้วไปสวรรค์ ทำบาป ตายแล้วตกนรก ”
เป็นการสอนที่ผิด เอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่
แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวการสอนที่พระพุทธเจ้าทรงใช้มากที่สุด คือ

อนุปุพพิกถา**

การสอนไปตามขั้นตอนเพื่อปรับจิตผู้ฟังให้ละเอียดผ่องใสขึ้นตามลำดับ ดังนี้

1. ทานกถา__ สอนเรื่องการให้ทาน
2. ศีลกถา__ สอนเรื่องการรักษาศีล
3. สัคคกถา__ พรรณนาเรื่องสวรรค์ ความงดงามน่ารื่นรมย์ยินดีของทิพยสมบัติเพื่อให้เห็นอานิสงส์ของการให้ทาน
    และรักษาศีล ว่าจะทำให้ได้ไปเกิดบนสวรรค์
4. กามาทีนพ__ สอนเรื่องโทษของกาม
5. เนกขัมมานิสงส์__ สอนเรื่องอานิสงส์ของการออกบวช
    เมื่อใจของผู้ฟังยกสูงขึ้นละเอียดดีแล้ว จึงสอนต่อด้วยอริยสัจ 4


>> เรื่องราวเกี่ยวกับสวรรค์มีกล่าวไว้มากมายในพระไตรปิฎก ที่รวมไว้เฉพาะเป็นเล่มเลยก็มี
เรียกว่า วิมานวัตถุ เรื่องของวิมาน และเรื่องของนรกก็มีกล่าวไว้มากมาย
เรื่องเปรต ก็กล่าวไว้เป็นคัมภีร์เฉพาะ เรียกว่า เปตวัตถุ

@ตัวอย่างในครั้งพุทธกาล: ลาชเทพธิดา@

มีหญิงชาวนาคนหนึ่ง ได้ทำข้าวตอกใส่ไว้ในขันแล้วมีโอกาสได้ใส่บาตร ถวายพระมหากัสสปะ
ซึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ระหว่างเดินกลับบ้าน วิบากกรรมตามมาทัน ถูกงูกัดตาย
ผลบุญทำให้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองโตใหญ่มาก
ที่ประตูวิมานประดับเรียงรายด้วยขันทองคำ มีข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่อย่างงดงาม
จะเห็นว่าทำบุญอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ทำบุญด้วยข้าวตอก ก็ได้วิมานประดับด้วยข้าวตอกทองคำ
ใช้ขันเป็นภาชนะ ก็มีขันทองคำประดับเรียงราย มีเรื่องราวทำนองนี้อยู่มากมายในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

>> พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมถึงความจริงของโลกและชีวิต กฎแห่งกรรม บุญบาป นรก สวรรค์ แล้วทรงนำมาสอนเรา

>> บรรพบุรุษไทยแต่โบราณก็ได้ปลูกฝังศีลธรรมในหมู่ประชาชนให้รักบุญกลัวบาปตามแนวทางของพระพุทธเจ้านี้เอง
อาทิ ไตรภูมิพระร่วง** พระราชนิพนธ์ของพญาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยซึ่งพรรณนาถึง
นรก สวรรค์ ภพภูมิต่างๆ ก็เป็นหนังสือที่เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง
ช่วยปลูกฝังศีลธรรมแก่ชาวไทยมายาวนาน ทำให้สังคมไทยสงบร่มเย็น อยู่เย็นเป็นสุข จนได้ชื่อว่า “สยามเมืองยิ้ม”


>> ชาวพุทธในปัจจุบันบางส่วนเริ่มไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม จนพาลจะปฏิเสธการสอนเรื่องนรก สวรรค์
ซึ่งเป็นแนวการสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้สังคมวุ่นวาย คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น
“ยิ้มสยาม แทบจะกลายเป็นยิ้มสยอง” ไปแล้ว น่าเสียดายที่สมญานาม “ ยิ้มสยาม ” ของไทยค่อยๆหายสูญไป

>> ศิลปกรรมตามโบสถ์ วิหารต่างๆก็มีภาพเขียนของสวรรค์ เทวดา นางฟ้ามากมาย
บ้างก็ทำเป็นรูปปั้น หรืองานแกะสลักไม้ ปูน แม้กระทั่งงานประติมากรรมโลหะ


>> ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น เราก็ควรจะได้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่ธรรมะ
เช่น ทำภาพของนรก สวรรค์ ทิพยสมบัติทั้งหลายออกเผยแผ่ตามสื่อต่างๆ เป็นภาพนิ่ง
หรือถ้าทำเป็นแอนิเมชั่นได้ยิ่งดี เพื่อปลุกกระแสศีลธรรม ความรักบุญ กลัวบาป
ให้กลับมาสู่สังคมไทย เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมืองเรา

>> การสื่อสารในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว หากมีพระภิกษุนำเรื่องนรก สวรรค์มาสอนแล้วมีคนพาลติเตียนต่อต้านพระ
หาว่าเอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่ หากเราไม่รู้ไปตามแห่ผสมโรงวิจารณ์พระด้วย
ไลท์ กดแชร์ข้อความที่เป็นวจีทุจริตในสังคมออนไลน์__เราก็จะพลอยบาปไปด้วย**
แชร์ไปถึงคน 100 คน ก็บาป 100 เท่า น่ากลัวจริงๆ อย่าไปทำ
ตรงกันข้ามถ้าแชร์ข้อความธรรมะ ยิ่งไปถึงคนกว้างเท่าใด เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน

>>ดังนั้นเรามาช่วยกันเผยแพร่ภาพและข้อความธรรมะให้มากๆกันเถิด ให้คนรักบุญกลัวบาป สังคมจะได้สงบร่มเย็น<<

พบพระพุทธรูปแฝงตัวอยู่บนภูเขานานกว่า 20 ปี



เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในมณฑลกว่างตง ประเทศจีน
ลึกลงไปในถ้ำหินหลงซานอันเงียบสงัด ยังมีพระพุทธรูปจำนวนกว่าหลายร้อยรูปซ่อนตัวอยู่
พระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนแกะสลักจากหินภูเขา ทว่ากลับงดงามราวกับมีชีวิต
และได้รับการขนานนามว่า "เชียนโฝซาน" (千佛山)
ซึ่งหมายถึง เขาพระพุทธรูปพันองค์ หรือ “ ถ้ำหินประตูมังกรน้อย" (小龙门石窟)
เนื่องจากถูกบดบังด้วยพรรณไม้อันเขียวชอุ่มและมีที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง
ทำให้มีผู้คนภายนอกน้อยมากที่รู้จักสถานที่นี้ อีกทั้งเส้นทางเข้าก็ลึกลับ
และยังเป็นเส้นทางที่ต้องปีนขึ้นเขาอีกกว่าครึ่ง หากไม่มีชาวบ้านเป็นผู้นำทางก็คงค้นหาได้ยาก
แม้จะเคยถูกพบเมื่อนานมาแล้วกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
ทว่ามันกลับโด่งดังในชั่วข้ามคืนเมื่อไม่นานมานี้บนโลกออนไลน์
ทำให้ช่วงไม่กี่วันมานี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยม








ที่มา China Xinhua News

ความเข้าใจผิด เรื่อง การปล่อยวาง




<<เราจะคิดอย่างไรหากพบกรณีอย่างนี้>>

** เด็กปล่อยห้องรกเป็นรังหนู ขยะเกลื่อน พอผู้ใหญ่เตือนก็บอก อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ต้องรู้จักปล่อยวาง ทุกอย่างอยู่ที่ใจ

** โจรใต้ต้องการแบ่งแยกดินแดน แล้วมีคนพูดว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา
ไม่ใช่ของของเรา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ต้องรู้จักปล่อยวาง ยกให้เขาไปเถิด

** มีคนลบหลู่ดูหมิ่นพระรัตนตรัยอย่างรุนแรง แล้วมีชาวพุทธบางคนบอกช่างเขา
ปล่อยเขาทำไป ต้องรู้จักปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น สำคัญที่ใจ

** คนยากจนไม่ยอมทำงาน คอยแต่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น มีคนไปบอกให้หางานทำ
เขาก็บอกว่าอย่าติดวัตถุ ต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น

** พุทธศาสนิกชนในไทยเหลือน้อยลงทุกที ถ้าปล่อยต่อไปพุทธอาจสูญจากไทยเหมือนอินเดีย
แล้วชาวพุทธบางคนบอกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ทุกอย่างไม่เที่ยง ต้องเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา ปล่อยมันไปไม่ต้องทำอะไร

<<ความจริงธรรมะมีทั้งระดับโลกียะเพื่อการดำรงอยู่ในโลกนี้และระดับโลกุตตระเพื่อความหลุดพ้น
คนบางคนแยกไม่ออก เอาธรรมะระดับโลกุตตระมาใช้กับเรื่องโลกียะ
พูดให้ดูเหมือนเท่มีหลักการ แต่ความจริงคือ การดูดาย ความไม่รับผิดชอบ

*** ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานพระองค์ยังทรงรับสั่งให้ชาวพุทธบำเพ็ญประโยชน์ตน
และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเลย พระองค์ไม่ได้สอนให้ชาวพุทธดูดาย ไม่รับผิดชอบ ***


<<เห็นใครที่ใช้ธรรมะผิดระดับ พูดเรื่องปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ศีล 5 ยังไม่ครบ
สมาธิภาวนาไม่ค่อยได้ทำ ให้ช่วยกันสอนให้เขาเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบ
การทำหน้าที่ของตนด้วย ถ้าเราปล่อยให้ความเห็นผิดเรื่องการปล่อยวาง
ซึ่งจริงๆ คือ การดูดาย ไม่รับผิดชอบ ขยายวงกว้างออกไป
จะเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากประเทศไทยไปได้เช่นกัน
คนเราถ้าไม่รับผิดชอบต่อประเทศ ประเทศก็ล่มสลายได้
ไม่รับผิดชอบต่อตนเอง ก็จะลำบากยากจนไปตลอดชาติ

<<คนที่จะพูดคำว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง ไม่ยึดติดวัตถุมุ่งแต่จิตใจได้นั้น
อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นคนที่มีศีล 5 ครบบริบูรณ์ หมั่นเจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง
จนใกล้จะหลุดพ้น เข้าสู่ภูมิอริยบุคคลแล้ว


<<< ถ้าศีลยังไม่รักษา สมาธิยังไม่นั่ง แล้วอะไรเกิดขึ้นก็พูดช่างมัน ไม่ยึดติด ก็คือ การหนีความจริง การไม่รับผิดชอบ ทั้งยังเกียจคร้านอีกด้วย>>>

พระพุทธเจ้าทรงเป็นเลิศในการบริหารจัดการ



เป็นที่น่าเสียใจว่าปัจจุบัน มีชาวพุทธบางส่วนคิดว่า พระพุทธศาสนาจะต้องไม่มีการบริหารจัดการ
ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ การที่พระสงฆ์หมู่ใหญ่มีการฝึกอบรมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
มีความพร้อมเพรียง ถูกมองว่าเป็นการสร้างภาพจัดฉาก
นี่คือความเข้าใจผิด และเข้าไม่ถึงพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าคือ ผู้เป็นเลิศในการบริหารจัดการ
หลักฐานคือ พระวินัยปิฎก 8 เล่ม เนื้อหาหลายพันหน้า ที่พระองค์ทรงวางกฎระเบียบในการประพฤติตนของพระภิกษุ
และการอยู่ร่วมกันของหมู่สงฆ์ ทำให้คณะสงฆ์ดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

<< เปิดกว้างการบวชแก่คนทุกชั้นวรรณะ >>

ในครั้งพุทธกาล ชาวอินเดียถือชั้นวรรณะมาก การแต่งงานข้ามวรรณะเป็นเรื่องห้ามขาด
แม้เพียงไปเห็นคนจัณฑาลก็ถือเป็นเสนียด ต้องเอาน้ำล้างตา
แต่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้คนทุกชั้นวรรณะ รวมทั้งจัณฑาลบวชได้เสมอกัน
การอนุญาตให้คนวรรณะต่ำบวชได้ รวมถึงจัณฑาลซึ่งขาดการศึกษา
แล้วจะให้มีศีลาจารวัตรงดงามเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของสาธุชน
แม้พระราชาพบเห็นก็ต้องเคารพกราบไหว้ได้ นั่นหมายถึง
พระพุทธองค์จะต้องวางระบบการฝึกอบรมพระภิกษุใหม่ไว้อย่างรัดกุม
พระภิกษุใหม่จะต้องถือนิสัยฝึกอบรมอยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างน้อย 5 พรรษา
ทรงวางวัตรปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่ออาจารย์ อาจารย์ต่อศิษย์ไว้อย่างละเอียด

<< ปรับระบบการบริหารคณะสงฆ์ตามสภาพคณะสงฆ์ที่เติบใหญ่ขึ้น >>

ระบบการรับสมาชิกใหม่_คือ_การบวช ก็ทรงปรับวิธีการบวชเป็นระยะตามสภาพของคณะสงฆ์ที่เปลี่ยนไป
ระยะแรก__พระพุทธเจ้าเป็นผู้บวชให้เอง เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ระยะที่สอง__คณะสงฆ์เผยแผ่ไปในที่ต่างๆ มีผู้ศรัทธาขอบวชมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามหาพระพุทธเจ้าได้ยาก เพราะพระองค์จาริกไปในที่ต่างๆ จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เพียงรูปเดียวก็ให้การบวชพระได้
เพราะพระยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นพระอรหันต์วินิจฉัยใช้ได้
ระยะที่สาม__คณะสงฆ์เป็นปึกแผ่นมากขึ้น และมีพระภิกษุที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์มากขึ้น
จึงทรงปรับวิธีการบวชให้กระทำโดยสงฆ์อย่างน้อย 10 รูปขึ้นไปและมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

<< วางระบบการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ อย่างรัดกุม >>

ทรงวางระเบียบการบริหารปัจจัย 4 ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การรับ เก็บ ฉันภัตตาหาร
การจัดหาและรักษาจีวร ยารักษาโรค ระเบียบการประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือนเพื่อทบทวนวินัย (ลงปาฏิโมกข์)
ระเบียบการรับพระอาคันตุกะ การอยู่จำพรรษา การปวารณา ทรงกำหนดวิธีแก้ปัญหาเมื่อพระภิกษุเกิดการทะเลาะวิวาทขัดแย้งกัน
ทรงแต่งตั้งอัครสาวกซ้ายขวา และพระอรหันต์ที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ
รวม 80 รูปให้เป็นแบบอย่างและเป็นผู้ช่วยในการดูแลบริหารจัดการคณะสงฆ์
ทรงบัญญัติวินัยสงฆ์ 227 สิกขาบท ซึ่งแต่ละสิกขาบท มีการบอกถึงเหตุที่เป็นต้นบัญญัติ ตัวสิกขาบท
อธิบายความหมายของศัพท์แต่ละคำในสิกขาบท เพื่อความเข้าใจตรงกัน
และเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว สงฆ์ไม่แน่ใจว่าผิดหรือไม่ พระองค์ก็ทรงวินิจฉัยไว้เป็นมาตรฐานในการตัดสินต่อไป
เหมือนตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาในปัจจุบัน

ทรงวางระเบียบการปฏิบัติของคณะสงฆ์อย่างรัดกุม ทรงสอนแม้กระทั่งมารยาทในการนุ่งห่มสบงจีวร
มารยาทในการเดินทางเข้าที่ชุมชน มารยาทในการขบฉันภัตตาหาร เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทำให้หมู่สงฆ์สาวกเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย แม้อยู่รวมกันนับพันรูป ก็สามารถสำรวม
สงบนิ่งเหมือนห้วงน้ำใส จนพระเจ้าอชาตศัตรูยังทึ่ง
ปรารถนาจะให้พระราชโอรสของพระองค์มีความสงบงามเหมือนอย่างภิกษุสงฆ์

**การจัดงานให้เป็นระบบเรียบร้อย คือการประกาศคุณพระศาสดา**


เราชาวพุทธจึงควรระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจฝึกตนเองตามแบบอย่างพระองค์
จะจัดงานหรือทำกิจกรรมใดที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย ก็ขอให้มีการวางแผนบริหารจัดการให้ดีที่สุด
ให้เป็นระเบียบงดงามมีประสิทธิภาพ ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ถือเป็นการประกาศคุณของพระพุทธเจ้า

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สุขา สังฆัสสะ สามัคคี @โมเดลไต้หวัน


>> ในปี พ.ศ. 2492 ประชากรไต้หวันที่เป็นชาวพุทธจริงๆ รู้จักศีล 5 รู้จักเจ้าชายสิทธัตถะ มีเพียงราว 1%
ที่เหลือนับถือลัทธิเต๋า ไหว้เจ้า นับถือลัทธิขงจื้อ นับถือศาสนาอื่นๆบ้าง

>> ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ก และลูกชายคือประธานาธิบดีเจียงจิงกัวเป็นคริสต์
ปกครองประเทศแบบเผด็จการต่อเนื่องกันเกือบ 40 ปี

>> ในยุคนั้น การเป็นชาวพุทธเป็นเรื่องน่าอาย ต้องปกปิดไม่ให้ใครรู้
ถ้าเป็นข้าราชการ ตำแหน่งจะไม่ก้าวหน้า

>> แต่ปัจจุบันประชากรไต้หวันเป็นชาวพุทธถึง 80% การเป็นชาวพุทธเป็นเรื่องมีเกียรติ
แม้ระดับผู้นำประเทศอย่างอดีตประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน
เมื่อมีข้อครหาเรื่องทุจริต ก็ยังต้องพยายามฟื้นคะแนนนิยม
โดยการเข้าวัดไปกราบพระมหาเถระที่มีชื่อเสียง
พานักข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ไปด้วยมากมาย เพื่อถ่ายทอดข่าวให้ประชาชนเห็นว่า
มากราบพระผู้ใหญ่เพื่อขอโทษในความผิดแล้ว ประชาชนจะได้ให้อภัย

__น่าทึ่งว่า ไต้หวันทำได้อย่างไร**

@สี่วัดใหญ่ในไต้หวัน@

ในไต้หวันมีวัดใหญ่ 4 วัด ซึ่งเอ่ยชื่อแล้ว คนรู้จักกันทั้งไต้หวัน คือ

1. วัดฝอกวงซาน__เด่นเรื่องการเผยแผ่ มีสาขาอยู่ทั่วโลกกว่า 300 แห่ง
2. วัดฝากู่ซาน___เด่นเรื่องการศึกษา มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพมากที่สุด
3. วัดจงถายฉานซื่อ___เด่นเรื่องการทำสมาธิ มีนักศึกษาและประชาชนมาปฏิบัติธรรมมากมาย
4. วัดฉื่อจี้___เด่นเรื่องสังคมสงเคราะห์ มีอาสาสมัครช่วยงานสังคมสงเคราะห์หลาย
ล้านคน

>> วัดใหญ่ทั้ง 4นี้ มีความโดดเด่นคนละด้าน แต่เขาไม่โจมตีกัน
แม้จะมีทัศนะในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่เหมือนกัน
แต่เขาจะไม่วิพากษ์วิจารณ์กล่าวร้ายต่อวัดอื่นเลย
แต่ละวัดก็ตั้งใจทำงานตามที่ตนถนัดและเห็นว่าเป็นประโยชน์

>> ธรรมชาติของมนุษย์มีจริตอัธยาศัยต่างกัน ใครชอบวัดไหนก็ไปวัดนั้น
ผลลัพธ์คือ ประชาชนเห็นว่าพระพุทธศาสนามีผลงานมากมายหลากหลายด้าน
ภาพลักษณ์พุทธดี คนจึงเข้าวัดมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1% กลายเป็น 80%
ในปัจจุบันแต่ละวัด ไม่ว่าวัดใหญ่วัดเล็กทั่วประเทศก็ล้วนมีคนเข้าวัดมากขึ้นทั้งยังมีวัดใหม่ๆที่โดดเด่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
พุทธในไต้หวันเจริญเพราะทำตามพุทธโอวาทที่ว่า

“ สุขา สังฆัสสะ สามัคคี
ความสามัคคีของหมู่สงฆ์ ทำให้เกิดสุข”



ลองสมมุติในทางกลับกันว่า ถ้าลูกศิษย์วัดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเหล่านี้เอาแต่โจมตีวัดอื่นว่าไม่ดี
แต่วัดตนนั้นดีที่สุด ป่านนี้พระพุทธศาสนาคงสูญจากไต้หวันไปแล้ว
เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนคิดเหมือนกัน แต่แม้คิดต่าง
เราก็ควรอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข แล้วช่วยกันสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่พระพุทธศาสนา
และนำศีลธรรมความสงบร่มเย็นมาสู่สังคม

@ลองเปรียบเทียบทางโลกดู@

ขนาดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ เขียนด้วยภาษากฎหมาย
พยายามใช้ถ้อยคำให้ชัดเจนรัดกุมที่สุด คนยังเข้าใจไม่ตรงกันเลย
แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญรับผิดชอบโดยตรง
การวินิจฉัยคดีแต่ละคดี มติก็มักจะออกมาเป็น 6 : 3 บ้าง 7 : 2 บ้าง 5 : 4 บ้าง น้อยมากที่จะออกมา 9 : 0
ถ้าตุลาการเสียงข้างมาก ออกมาโจมตีตุลาการเสียงข้างน้อย ว่าตีความรัฐธรรมนูญผิด
ทำรัฐธรรมนูญให้วิปริต ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ต้องกำจัดให้หมดไป
ต่างฝ่ายต่างปลุกระดมโจมตีกันบ้านเมืองก็คงแตกแยกวุ่นวาย
การกระทำนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญของประเทศเลย
มีแต่นำความเสื่อม ความวุ่นวายแตกแยกมาสู่ชาติบ้านเมือง
มีนักปรัชญากล่าวไว้ว่า ข้อความเดียวกัน เมื่อตีความตามความคิด
จะไม่มีใครเลยที่ตีความเข้าใจเหมือนกันหมด จะต้องมีบางแง่มุมในรายละเอียดที่เข้าใจต่างกัน
คนร้อยคนก็จะมีความเข้าใจร้อยแบบ
คนเราจะเข้าใจตรงกันได้ก็ต่อเมื่อก้าวข้ามพ้นความเข้าใจด้วยความคิดหรืออารมณ์
ความรู้สึกของตนขึ้นไปสู่ระดับความรู้แจ้งด้วยภาวนามยปัญญา
เหมือนดังพระอรหันต์ทั้งหลายที่ผ่านสภาวะนั้น และเข้าใจธรรมะได้ตรงกัน

ดังนั้นขอให้รักษาคำสอนในพระไตรปิฎกไว้ให้ดีที่สุด เป็นแม่บทที่รวมของพระธรรมวินัย
แม้ในเบื้องต้นอาจมีความเห็นในบางแง่มุมต่างกันบ้าง ก็อย่าทะเลาะวิวาทโจมตีกัน
แต่ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไปให้เต็มที่ เมื่อบรรลุธรรมเข้าถึงด้วยตนเองแล้วเราก็จะเข้าใจตรงกัน
บำเพ็ญประโยชน์ตน __ด้วยการตั้งใจปฏิบัติธรรม
บำเพ็ญประโยชน์ท่าน __ด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเต็มที่
เมื่อบำเพ็ญประโยชน์ทั้งสอง__ ด้วยความไม่ประมาท

**ตัวเราก็ย่อมมีความสุขความเจริญ พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง สังคมก็สงบร่มเย็น**

ขอบคุณคนตั้งกระทู้ด้วยนะครับ

มีข้อมูลวัดจงไถ มาเสริมครับ
วัดจงไถ มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเลยนะครับ มีระบบค่อนข้างครบวงจร เหมือนกับเป็นตำบลขนาดย่อมๆ มีทั้งวัด โรงเรียน หอพัก
โรงครัว สวนผัก โรงซ่อมรถ ฯลฯ
ลองไปดูที่เว็บนี้ได้ครับ
http://meetawee.blogspot.com/2014/11/10-1-3.html
ต้องให้เครดิตเว็บเขาด้วยครับ เรื่องภาพประกอบ

พื้นที่ของวัด






แม้ว่าวัดนี้จะมีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตสะอาดสะอ้าน  ชีวิตประจำวันของพระที่นี่ก็ไม้ได้สะดวกสบายหรูหราอย่างที่เราคิดนะครับ  
เนื่องจากไต้หวันไม่มีการตักบาตร ทางวัดนี้จึงต้องให้พระสงฆ์ต้องปลูกผัก ทำอาหารทานกันเอง




ส่วนพื้นที่แม้จะใหญ่โตแต่ก็มีความสะอาดเป็นเอกลักษณ์



ประโยชน์ของการสร้างวัดใหญ่

>>ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะทีละเรื่อง
และทยอยบัญญัติพระวินัยทีละสิกขาบทเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น
ในยุคนั้นไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีการพิมพ์หนังสือ
แล้วคณะสงฆ์ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆอย่างกว้างขวางทั่วอินเดีย
จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นใหม่อีกกี่สิกขาบทแล้ว
และถ้าไม่รู้ ถือพระวินัยไม่เท่ากันสวดปาฏิโมกข์ก็มีสิกขาบทไม่เท่ากัน คณะสงฆ์ก็ย่อมขาดเอกภาพ


(ภาพจาก http://www.watpaphukon.org/)

>>เคล็ดลับของการสื่อสารในสมัยพุทธกาล คือ วัดใหญ่ในกรุงสาวัตถี

_ในช่วง 19 พรรษาแรก พระพุทธเจ้าทรงจาริกไปจำพรรษาในที่ต่างๆ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ
แต่ช่วงตั้งแต่พรรษาที่ 20 ถึงพรรษาที่ 44 พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถีเมืองเดียว 25 พรรษาต่อเนื่อง
โดยจำพรรษาที่วัดเชตวันมหาวิหาร 19 พรรษา และวัดบุพพาราม 6 พรรษา
คัมภีร์บันทึกไว้ชัดเจนว่า ในเชตวันมหาวิหารซึ่งมีพระจำพรรษานับพันรูป
มีการจัดที่พักของพระอยู่เป็นกลุ่มๆตามความชำนาญเช่น พระวินัยธร ผู้เชี่ยวชาญพระวินัย
พระธรรมธรผู้เชี่ยวชาญพระสูตร พระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญการแจกแจงแสดงธรรม เป็นต้น
และในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นธรรมเนียมสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว
จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินต่างรู้ดีว่าพระองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่กรุงสาวัตถี
ไปแล้วพบแน่ ถ้าพระพุทธเจ้าทรงจาริกไปจำพรรษาในที่ต่างๆ คณะสงฆ์ก็ไม่รู้จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ไหน
ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่พรรษาที่ 20 ซึ่งคณะสงฆ์ขยายตัวไปทั่วแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงจำพรรษาที่เมืองเดียว 25 พรรษาต่อเนื่อง
เมื่อคณะสงฆ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว พระทัพพมัลลบุตรก็จะพาไปพัก
พระที่สนใจพระวินัยก็จะไปพักกับกลุ่มพระวินัยธร พระที่สนใจพระสูตรก็ไปพักกับกลุ่มพระธรรมธร
ศึกษาท่องจำพระสูตรใหม่ๆและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น
เมื่อทรงจำได้ดีแล้วก็กราบทูลลาพระพุทธเจ้า จาริกไปในที่ต่างๆ ต่อไป
เมื่อไปถึงวัดหลักในหัวเมืองต่างๆ ก็จะเคาะระฆังประชุมสงฆ์
แจ้งให้ทราบว่าเพิ่งเดินทางมาจากเชตวันมหาวิหาร แล้วสาธยายพระสูตรหรือพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติใหม่ให้พระภิกษุในที่นั้นฟัง
เมื่อพระในที่นั้นๆท่องจำได้ดีแล้วก็แยกย้ายกันจาริกต่อไปยังวัดย่อยๆ กระจายข่าวต่อๆกันไปอีก
ทำให้คณะสงฆ์ที่กระจายตัวในพื้นที่กว้างใหญ่รู้พระวินัยและพระสูตรเสมอกัน
_นี่คือการสื่อสารไร้สายในครั้งพุทธกาล
วัดใหญ่อย่างเชตวันมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้าง สิ้นทรัพย์คิดเป็นเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท
จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนา


ภาพจาก http://www.phasornkaew.org

>>ตัวอย่างจากสถานศึกษา<<

สถานศึกษาจะมีหลายขนาด เช่น สถานศึกษาในหมู่บ้าน ก็เป็นโรงเรียนประถม ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด
ก็เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นจนถึงมัธยม บางจังหวัดก็มีสถาบันระดับอาชีวะและอุดมศึกษา
ส่วนในระดับประเทศก็มีมหาวิทยาลัยใหญ่ บางแห่งใช้งบก่อสร้างหลายหมื่นล้านบาท ใช้งบดำเนินการปีละหลายพันล้าน
หากทั้งประเทศมีแต่โรงเรียนประชาบาล ไม่มีมหาวิทยาลัย
ก็คงยากที่จะพัฒนาการศึกษาและคุณภาพประชากรได้ สถานศึกษาต้องมีหลายระดับ ต่างทำหน้าที่ตามบทบาทของตน


(วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม http://travel-barw.blogspot.com/2013_04_01_archive.html)

@ประโยชน์ของวัดใหญ่@

วัดก็เช่นเดียวกัน มีทั้งวัดในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเหมือนโรงเรียนสอนศีลธรรมในชุมชน
และต้องมีวัดใหญ่ๆเพื่อเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยสอนศีลธรรม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของวัดต่างๆ
เพื่อนำไปขยายผลต่อไปยังประชาชนทั่วประเทศ เป็นแหล่งสร้างสรรค์กิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการปลูกฝังศีลธรรม เป็นเหมือนหัวรถจักรที่ฉุดขบวนรถไฟให้เคลื่อนตัวไป
การสร้างวัดใหญ่ๆที่มีประชาชนมาศึกษาปฏิบัติธรรมมากจึงมีความจำเป็น ขอเพียงเมื่อสร้างแล้ว
มีประชาชนมาใช้ประโยชน์ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรมจริงเท่านั้น


>>เศรษฐกิจกับจิตใจต้องพัฒนาคู่กัน<<

เมื่อดูจากปัญหาสังคมในปัจจุบัน ที่อบายมุขและยาเสพติดท่วมเมือง ผู้คนขาดศีลธรรม
แสดงให้เห็นชัดว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาจิตใจขาดความสมดุลกัน เราทุ่มเทงบประมาณ
กำลังคนมากมายกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาจิตใจกลับยังมีงบประมาณและคนทำงานน้อยมาก
ให้ลองพิจารณาดูเถิดว่า ผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยปีหนึ่งๆที่ไปทำงานทางธุรกิจมีกี่คน
และที่มาทำงานด้านพัฒนาศีลธรรมมีกี่คน ก็จะพบว่าสัดส่วนต่างกันราวฟ้ากับดิน
เราจึงควรช่วยกันสร้างวัดใหญ่ๆเพิ่มขึ้น ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆ
และชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้นด้วย
ไม่ต้องเกรงเรื่องความสิ้นเปลืองเลย เพราะ คนไทยใช้เงินไปกับอบายมุขปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
แค่นำเงินที่ละลายไปกับอบายมุขเพียง 10 % มาสร้างวัดก็จะได้วัดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ซึ่งเป็นการใช้ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ บ้านเมืองเราจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจกับจิตใจควบคู่กันไปอย่างแท้จริง


<<หลักปฏิบัติตนของชาวพุทธต่อเรื่องปาฏิหาริย์

@ ปาฏิหาริย์ในพระพุทธศาสนา @

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปาฏิหาริย์มี 3 อย่าง คือ

1.อิทธิปาฏิหาริย์_ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น แปลงกาย หายตัว ดำดิน เหาะ
2.อาเทสนาปาฏิหาริย์_ ทายใจ รู้วาระจิต รู้ความคิดของคนอื่น
3.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ _คำสอนให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำความดี ทั้งทาน ศีล ภาวนา จนหมดกิเลสในที่สุด

อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น ผู้ที่มีศรัทธาจริตก็จะอัศจรรย์ใจ เพิ่มพูนศรัทธา
แต่ผู้ที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส ก็อาจไม่เชื่อ โจมตีเอาได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าประเสริฐที่สุด

@การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า@

พระพุทธเจ้าทรงใช้ปาฏิหาริย์ทั้ง 3 อย่างในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพราะคนเรามีจริตอัธยาศัยต่างๆ กันอาทิ

- เมื่อตอนไปโปรดชฎิล 3 พี่น้องพร้อมบริวาร 1,000 คน หลังตรัสรู้ธรรมได้ 5 เดือน
ทรงแสดงปาฏิหาริย์ถึง 3,500 อย่าง จึงปราบมานะทิฐิของชฎิลลงได้ ทำให้เปิดใจฟังธรรมจนบรรลุธรรม
ขอบวชทั้งหมด เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อมา



- เมื่อตอนไปโปรดองคุลีมาล ทรงแสดงฤทธิ์ย่นพสุธา จนองคุลีมาลวิ่งไล่ตามอยู่ 48 กิโลเมตรก็ตามไม่ทัน ทิฐิคลายใจเปิดทิ้งดาบฟังธรรม ได้ออกบวชและเป็นพระอรหันต์ในที่สุด


- แม้ในพุทธประวัติเองก็มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นมากมาย อาทิ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ก็ทรงเดินได้ 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับ



>> แม้คนธรรมดาเมื่อมีจิตศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม ก็เหนี่ยวนำให้เกิดปาฏิหาริย์ได้ ดังเช่น
นายสุมนมาลาการ ชาวเมืองราชคฤห์ พบพระพุทธเจ้า เกิดศรัทธาท่วมท้นหัวใจ จึงนำดอกมะลิที่เตรียมถวายพระราชา
จัดถวายบูชาพระพุทธเจ้า ไม่หวาดหวั่นว่าจะถูกลงโทษแม้ความตาย เกิดอัศจรรย์ ดอกมะลิลอยเป็นซุ้ม
ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปตลอดทางทั้งเมือง

>> หัวใจสำคัญคือ** อิทธิปาฏิหาริย์นั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการเปิดใจผู้อื่นให้พร้อมรับฟังคำสั่งสอน
เพื่อปฏิบัติธรรมทำความดีต่อไป ไม่ใช่เพื่อให้ลุ่มหลงในอิทธิปาฏิหาริย์เหล่านั้น

@เรื่องเล่าปาฏิหาริย์@

<<ปาฏิหาริย์ของพระเถระในประเทศไทย
พระในสายปฏิบัติมักมีเรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ดังบอกเล่าต่อเนื่องกันมา เช่น

1. หลวงปู่ทวด สามารถเหยียบน้ำทะเลทำให้เป็นน้ำจืดได้
2. พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สามารถรู้วาระจิตผู้อื่น ปราบภูติผีปีศาจ ปราบสัตว์ร้ายให้เชื่องได้
3. หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ รู้วาระจิตผู้อื่น พระของขวัญวัดปากน้ำมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก
4. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เหาะได้ มีนักบินพบกลางอากาศ
5. ครูบาศรีวิชัย สามารถรู้วาระจิตผู้อื่น ฝนตกไม่เปียก

>> เรื่องปาฏิหาริย์นี้คนที่เชื่อก็จะเพิ่มศรัทธาอย่างมาก แต่คนที่ไม่เชื่อก็อาจโจมตีได้
เช่น มีบางคนออกมาพูดลบหลู่ดูหมิ่นพุทธประวัติอย่างรุนแรงว่า
ผู้ที่คลอดแล้วเดินได้เลย เห็นจะมีแต่วัวควายเท่านั้น
ปฏิเสธและโจมตีปาฏิหาริย์ทุกอย่างที่เหนือธรรมชาติอย่างน่ากลัวในผลบาปอันหนักจากวจีกรรมที่ลบหลู่ต่อพระพุทธเจ้ายิ่งนัก



1. พึงรู้ว่าปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาตินั้นมีจริง เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ทางใจ อย่าเพิ่งไปปฏิเสธ เพราะความรู้เรายังจำกัด
เช่น ถ้าเราไปบอกคนเมื่อ 100 ปีก่อนว่า เราอยู่กรุงเทพแล้วสามารถคุยกับคนอยู่อเมริกาได้
เขาจะไม่เชื่อ หาว่าเราโกหกว่ามีหูทิพย์เพราะเขายังไม่รู้จักโทรศัพท์มือถือ
ความรู้เขายังจำกัดอยู่ ปัจจุบันคนก็ยอมรับว่าทำได้จริง

2. พึงเข้าใจว่าปาฏิหาริย์จะมีประโยชน์ ต่อเมื่อเป็นเครื่องเพิ่มพูนศรัทธาเพื่อเป็นกำลังใจในการศึกษาธรรมะ
ทำความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป ทั้งการให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา ปาฏิหาริย์แบบนี้มีประโยชน์

3. อย่าลุ่มหลงในปาฏิหาริย์แบบหวังผลดลบันดาล เช่น ขูดต้นตะเคียนขอหวย
ไหว้งู 2 หัว วัวพิการ 5 ขา ไหว้จอมปลวก ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ เพื่อขอผลดลบันดาล
โดยไม่ได้ทำความดี ไม่ได้สร้างบุญ หลงปาฏิหาริย์แบบนี้ ยิ่งหลงจะยิ่งโง่

ข้อเตือนใจ

1. อย่าหลงในความรู้วิชาการสมัยใหม่ของตน จนปฏิเสธดูหมิ่นปาฏิหาริย์ทุกอย่างว่าไม่มีจริง
ให้ฟังหูไว้หู เพราะความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันยังน้อยนัก เรื่องจริงแต่ความรู้เรายังไปไม่ถึงอธิบายยังไม่ได้มีอีกมาก
หากเราอาศัยความไม่รู้ไปโจมตีกล่าวร้ายต่อผู้มีคุณธรรมสูงอย่างพระพุทธเจ้า
พระเถระทั้งหลาย ไม่เชื่อก็อย่าเพิ่งลบหลู่ เสี่ยงต่อนรกยิ่งนัก

2. อย่าให้อิทธิปาฏิหาริย์มาบดบังอนุสาสนีปาฏิหาริย์
เห็นคนที่เขาเชื่อศรัทธาในปาฏิหาริย์ของผู้มีคุณธรรม แล้วตั้งใจทำความดี
ก็ควรอนุโมทนาในการทำความดีของเขา ตัวเราหากไม่เชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์
ก็ขอให้วางใจกลางๆ อย่าเพิ่งปฏิเสธแล้วตั้งใจศึกษาในส่วนคำสอน
ชีวิตเราก็จะมีแต่ความสุขความเจริญไม่ใช่ปฏิเสธอิทธิปาฏิหาริย์
แล้วเลยพาลดูถูกปฏิเสธคำสอนที่ดีๆ ของพระท่านไปทั้งหมด ก็จะเสียโอกาส ได้แต่บาปไม่ได้กุศลเลย

<<< การปะทะกันของ “กลุ่มพุทธติดกรอบ” กับ “กลุ่มพุทธกระแสหลัก” >>>



           พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่แดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
ซึ่งได้ส่งคณะสมณทูตนำโดยพระโสณะและพระอุตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเมื่อราว 2,300 ปีก่อน

          คณะสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยเท่าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสุโขทัย
ได้แบ่งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายคามวาสี (พระบ้าน) และคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย
อยู่กันอย่างค่อนข้างเป็นอิสระ ดูแลกันโดยระบบอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์
ไม่มีระบบการศึกษาของส่วนกลาง ซึ่งพระภิกษุผู้บวชใหม่จะศึกษาพระธรรมวินัยจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน
ศึกษาหลักธรรมปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่ตนเคารพนับถือ ไม่มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ไม่มีการปกครองตามลำดับชั้นเจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค หน ที่มีขึ้นในปัจจุบัน



          แต่มีการถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปใดเป็นศาสดาแทนพระองค์
แต่ให้คณะสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นศาสดาแทนพระองค์

         คณะสงฆ์ทั่วประเทศมีพระไตรปิฎกเป็นจุดร่วม ให้ความสำคัญกับการจารจารึกพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน
เพื่อสืบทอดคำสอน อาจมีการตีความเพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติที่หลากหลายตามความคิดความเชื่อหรือตามกำลังสติปัญญาของแต่ละคน
แต่ทั้งหมดก็รวมกันเป็นคณะสงฆ์ไทยที่อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก
ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับประชาชนชาวไทยมาตลอดนับพันปี
ทำให้สังคมไทยสงบร่มเย็น  ผู้คนมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเป็นสุข จนได้ฉายาว่า “สยามเมืองยิ้ม”



          ขณะที่คณะสงฆ์เถรวาทในประเทศศรีลังกา พม่า  มีการแบ่งนิกายจำนวนมาก
แต่คณะสงฆ์ไทยสามารถรักษาความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายของความคิดและแนวปฏิบัติได้อย่างน่าชื่นชม
คณะสงฆ์ไทยมีการแบ่งนิกายเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ทรงผนวชอยู่
ได้มีการตั้งคณะสงฆ์ “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้น คณะสงฆ์ไทยแต่เดิมจึงเรียกว่า “มหานิกาย”



          ในช่วง ร.4-ร.5 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตกอย่างมาก
จึงต้องรีบสร้างเอกภาพในชาติเพื่อป้องกันไม่ให้อังกฤษและฝรั่งเศสหาเหตุเข้ายึดครอง
ในทางบ้านเมืองมีการปฏิรูปการปกครองประเทศ  มีการตั้งกระทรวงมหาดไทย  มณฑล จังหวัด อำเภอ
รวมศูนย์อำนาจการปกครองประเทศเข้าส่วนกลาง

          ส่วนในทางคณะสงฆ์ก็มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121 ( พ.ศ.2445 ) ตั้งมหาเถรสมาคม
และเจ้าคณะปกครองระดับชั้นต่างๆ รวมอำนาจการปกครองสงฆ์เข้าสู่ส่วนกลาง จัดทำหนังสือตำราเรียน
หลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์จากส่วนกลางทั้งบาลี และนักธรรม
กำหนดรูปแบบพิธีกรรมสงฆ์ บทสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นให้เหมือนกันทั้งประเทศ
เป็นยุคของการสร้างกรอบมาตรฐาน เพื่อให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศมาอยู่ในกรอบเดียวกัน
และยังรวมไปถึงอำนาจการตีความพระไตรปิฎกและการกำหนดระเบียบปฏิบัติของสงฆ์และชาวพุทธ
อยู่ในการควบคุมของคณะผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลาง

          ดังข้อความตอนหนึ่ง อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ซึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้ในตอนท้ายแห่งแถลงการณ์คณะสงฆ์ก่อนหน้าพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ความว่า

              “ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัยเป็นกฎหมายสำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว  
               ก็ยังจะต้องอยู่ในใต้อำนาจแห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง
              ซึ่งตราไว้เฉพาะหรือเพื่อคนทั่วไปและยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง
              อันไม่ขัดต่อกฎหมายสองประเภทนั้นอีก สรุปความ  ภิกษุสงฆ์มีกฎหมายอันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท
              คือ กฎหมายแผ่นดิน ๑  พระวินัย ๑ จารีต ๑ พระราชบัญญัตินี้
              เป็นกฎหมายแผ่นดินจึงสมควรจะรู้จะเข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้อง”

             ผลที่เกิดขึ้นตามมาที่น่าสังเกตคือ ได้เกิดมีกลุ่มชาวพุทธที่ยึดถือหลักการที่กำหนดมาใหม่ดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น
กลายเป็น “พุทธติดกรอบ” มีแนวปฏิบัติที่คอยปฏิเสธความคิดความเชื่อและแนวปฏิบัติของกลุ่มสงฆ์อื่น
ที่มีความเชื่อและแนวปฏิบัติต่างไปจากฝ่ายตน จนบางครั้งถึงกับมีการโจมตีหรือชี้นำโดยวางตนในฐานะผู้สอดส่อง
และตรวจสอบการตีความพระธรรมวินัย คล้ายกับเป็นตาชั่งหรือบรรทัดฐานของคณะสงฆ์ไทย

           ตัวอย่างเช่น

           การตีพิมพ์หนังสือของพระและนักวิชาการหลายท่าน ต่อต้านแนวคำสอนของคณะสงฆ์ที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม
ซึ่งนอกจากจะเป็นการเบียดเบียนทำลายภาพลักษณ์กันแล้ว กล่าวได้ว่าอาจนำไปสู่การสร้างความแตกแยกในคณะสงฆ์ไทย
ซึ่งเท่ากับได้กำลังสร้างกฏประเภทที่ ๔ ซึ่งอาจเรียกว่า "กรอบ (ความคิดและการปฏิบัติ)"
ที่นอกเหนือไปจากกฏ ๓ ข้อข้างต้น ซึ่งชัดเจนว่า เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องตามหลักการที่บัญญัติไว้ใน
พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ และถือว่าขัดกับเจตนารมย์ของพระเถระผู้บริหารปกครองคณะสงฆ์ในอดีต

    แต่กรอบความคิดและแนวปฏิบัติที่คณะผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลางพยายามสร้างขึ้นนี้เป็นของใหม่
เพิ่งมีอายุเพียงร้อยปีเศษ ไม่สามารถลบล้างความหลากหลายทางความคิดและแนวปฏิบัติของ
คณะสงฆ์ไทยที่มีมานานนับพันปีได้  เราจึงเห็นการตีความคำสอนและแนวปฏิบัติที่หลากหลายของวัดต่างๆในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
แม้คณะผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลางเอง  ในพระอารามหลวงต่างๆ ก็สามารถเห็นการประกอบพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง
การดูหมอ การปลุกเสกเลขยันต์ พิธีบูชาพระราหู การจัดสร้างวัตถุมงคล และพิธีกรรมหลากชนิดได้ทั่วไป


    คณะสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่ทั่วประเทศยังคงมีความเชื่อและแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เป็นชาวพุทธกระแสหลักของประเทศ

    ปัจจุบันแรงกดดันของลัทธิล่าอาณานิคมผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีพระสงฆ์และชาวพุทธส่วนน้อยบางคนติดอยู่ในกรอบที่ถูกสร้างขึ้น

มีวิถีความคิดที่คับแคบว่า ต้องตีความพระไตรปิฎกแบบตนเท่านั้นจึงถูกต้อง
ปฏิเสธความคิดความเชื่อแนวปฏิบัติอื่นโดยสิ้นเชิงบ้างถึงขนาดหมกมุ่นโจมตีผู้ที่คิดเชื่อไม่เหมือนตน

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหฺมรํสี) วัดระฆังฯ ซึ่งเป็นพระมหาเถระมีชื่อเสียงในยุค ร.4 เคยกล่าวไว้ว่า
“บาลีมีนัยยะเป็นร้อย คนความรู้น้อยหาว่าขรัวโตเป็นบ้า ”



       คำกล่าวนี้สะท้อนแนวคิดของกลุ่มพุทธกระแสหลักได้เป็นอย่างดีว่า
ยอมรับความหลากหลายของการตีความและแนวปฏิบัติ ไม่โจมตีกัน แต่เน้นการสอนประชาชนให้เป็นคนดี
ยกระดับศีลธรรมในสังคมให้สูงขึ้น  แต่แม้กระนั้น ก็ยังยึดมั่นรักษาพระธรรมวินัย คือพระไตรปิฎก
ซึ่งก็มีอยู่แล้วไม่สูญหายไปไหน ไม่มีใครสามารถแก้ไขโดยพลการได้
เพราะถ้าใครไปแก้เพียงเอาไปเทียบกับของเดิมที่มีเผยแพร่นับแสนชุดก็รู้ทันทีไม่มีใครยอมรับ
คนทำมีแต่จะเสียไปเอง จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีใครจะมาทำให้พระธรรมวินัยวิปริตผิดเพี้ยนไปได้

    แต่กลุ่มพุทธติดกรอบ จะติดอยู่ในกรอบความคิดที่คับแคบไม่ยอมรับความเห็นต่าง
บ้างถึงขนาดมองว่าผู้ที่คิดเชื่อไม่เหมือนตนเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
จ้องโจมตีผู้ที่คิดเชื่อไม่เหมือนตน ละเลยการเผยแผ่ธรมะสู่ประชาชน
ในปัจจุบันนี้ เหตุการณ์ได้ลามไปถึงระดับที่มีพระภิกษุเพียงไม่กี่รูป
โจมตีคณะสงฆ์ทั่วประเทศตลอดจนถึงมหาเถรสมาคมและผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชว่ามีแนวปฏิบัติไม่ถูกต้อง
ตนต่างหากคือผู้ยึดถือความถูกต้อง

         แต่ครั้นไปดูวัตรปฏิบัติของพระภิกษุผู้นำขบวนของกลุ่มพุทธติดกรอบนี้
กลับพบว่าหาได้ดำเนินตามพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องไม่ เช่น มีการตั้งโรงเจในวัด
มีการสร้างพระเครื่องโดยกรีดเลือดของตนผสมเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความขลัง
ของตนผสมเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความขลัง มีการประกอบพิธีโดยมีรูปบูชาทั้งเจ้าพ่อกวนอู
เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ ฯลฯ นับเป็นความย้อนแย้งที่ประหลาดพิสดาร

           น่าสนใจติดตามว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะก้าวพ้นความขัดแย้งระหว่างความหลากหลายของกลุ่มพุทธกระแสหลัก
และความยึดติดคับแคบของกลุ่มพุทธติดกรอบไปได้หรือไม่

          เราจะรักษาเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายเหมือนที่บรรพบุรุษไทยเคยทำมาได้หรือไม่
หากชาวพุทธส่วนน้อยก้าวพ้นจากความยึดติดในกรอบที่ถูกสร้างขึ้น

         ยอมรับความเห็นต่างและแปรเปลี่ยนพลังของตนจากการมุ่งใช้ทำลายล้างผู้เห็นต่าง
มาเป็นพลังสร้างสรรค์ มุ่งเผยแผ่ธรรมะอย่างที่ตนเชื่อสู่ประชาชน ความสงบร่มเย็นความสมัครสมานสามัคคีก็จะกลับมาสู่สังคมไทย
“สยามเมืองยิ้ม” ย่อมจะกลับคืนมา

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เอาภาพจากงานวิสาขบูชาที่ฮ่องกงมาให้ชมกัน

เพื่อนชวนไปร่วมงานวิสาขบูชาที่ฮ่องกงเลยเอาภาพมาให้ชมกัน

ฮ่องกงจะจัดงานวิสาขบูชาในวันที่ 14  พฤษภาคม  2559  เร็วกว่าของเถรวาท



สถานที่จัดงานคือ  Hong Kong Coliseum  



วงดุริยางค์นำริ้วขบวนเข้าสู่พิธี





เอกสารที่แจกในงาน



ตัวแทนคณะสงฆ์ในฮ่องกง  จีน   ตัวแทนรัฐาลจีน  ตัวแทนรัฐบาลฮ่องกง  องค์กรพุทธในฮ่องกงมาร่วมงาน




เพื่อนบอก  หลวงจีนรูปที่ใส่หมวกเป็นสังฆราชของฮ่องกง



สังฆราชฮ่องกง ตัวแทนจากรัฐบาลจีน และฮ่องกง  ตีระฆัง


พระจากหลายๆ  นิกาย  รวมทั้งพระไทยในฮ่องกงเข้าร่วมเกือบทุกวัด   ขาดแต่วัดธรรมกายในฮ่องกงไม่ได้มา

หมายเหตุ   ถ้าบรรยาภาพไหนผิดขออภัยมา ณ  ที่นี้   ด้วยภาษากวางตุ้งของผม  กระท่อนกระแท่น เต็มที  
บางทีเพื่อนบอกอาจจะฟังผิดไปบ้าง

ความลับหน้าเด็กหน้าใส ที่คนธรรมะธัมโมอยากจะบอก

ใบหน้า เป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิต
ไม่ว่าจะเกิดมาหน้าตาดีหรือไม่ แต่การมีหน้าใส อ่อนกว่าวัย ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาแน่นอน

และเคยสังเกตไหมว่า ทำไมผู้ชอบปฏิบัติธรรม ถึงได้หน้าเด็กหน้าใสกัน หรือพระอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติกรรมฐานก็ตาม หน้าตาจะผ่องใสทั้งๆที่ไม่ได้ประทินผิวกันเลย เพราะอะไร เจ้าของกระทู้เลยตั้งข้อสังเกต → สมมุติฐาน → พิสูจน์ดู → เอามาแชร์กัน


1. อย่างแรก การสวดมนต์ค่ะ เพราะเป็นสมาธิอย่างง่าย ได้บุญในการภาวนา และความลับอยู่ตรงนี้
การกราบ ศีรษะของเรา หน้าผากที่จรดแนบกับพื้น (ค่อยๆกราบนะ กราบเร็วๆประหลกๆไม่ช่วยอะไร) ช่วยให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงที่ส่วนกะโหลกและใบหน้า (ใครกลัวเป็นสิว หาผ้าสะอาดๆรองหน้าผากนะ)

 
การทำวัตรเช้า 1 ครั้ง อย่างน้อยเราจะต้องกราบ 3 ครั้ง ถึง 3 เซต คือ รวม 9 ครั้ง 
การทำวัตรเย็น จะมีบทกาเยนะ วาจายะ... ให้กราบค้างประมาณ 10 วินาที 3 รอบด้วยกัน (ท่านี้) และกราบปกติ 9 ครั้ง
สรุปคือ เราจะได้กราบวันละอย่างน้อย 21 ครั้ง ซึ่งท่านี้คล้ายกับท่าโยคะ เรียกว่าท่าหน้าเด็กอีกด้วย


ส่วนนอกเหนือจากการกราบช่วยเพิ่มความอ่อนเยาว์แล้ว การสวดมนต์ ยังช่วยในเรื่องสมาธิอย่างง่าย(จะอธิบายอีกหัวข้อ) ถ้าสวดออกสียง ก็ช่วยให้พูดได้ชัดถ้อยชัดคำขึ้นด้วย เพราะภาษาบาลีจะออกเสียงเป็นคำๆ ตรงตามอักขระอย่างชัดเจน ใครต้องการฝึกการพูด ฝึกเป็นพิธีกร สวดมนต์ช่วยได้ค่ะ
ไม่เชื่อใช่ไหมหล่ะ งั้นลองออกเสียงบทนี้ลองดู

"โยโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ 
สวากขาโต เยนะ ภะคะวะตา ธัมโม 
สุปะฏิปันโน ยัสสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ 
ตัมมะยัง ภะคะวันตัง สะธัมมัง สะสังฆัง 
อิเมเหิ สักกาเรหิ ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ อะภิปูชะยามะ 
สาธุโน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ปัจฉิมาชะนะตานุกัมปะมานะสา 
อิเม สักกาเร ทุคคะตะปัณณาการะภูเต ปะฏิคคัณหาตุ 
อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ฯ"


เรียกว่าอานิสงค์ทั้งสวยชาตินี้และชาติหน้า  คุ้มแบบนี้ลองทำกันดูนะคะ 

บทสวดมนต์ที่เจ้าของกระทู้สวดเป็นประจำ  ตามนี้เลย
ทำวัตรเช้า
ทำวัตรเย็น
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



2. ความลับที่ 2 นั่งสมาธิ

หลายๆคนรู้ว่าสมาธิดี แต่ทำไม่เป็น ไม่ชอบนั่ง แล้วมันจะเกี่ยวกับความอ่อนเยาว์ได้อย่างไร 

ให้ลองนั่งสมาธิ แล้วสังเกตการณ์หายใจของตัวเองดูนะคะ จากที่เริ่มนั่งเราจะหายใจแรง แต่ค่อยๆนั่งไปลมหายใจจะค่อยๆเบาขึ้น ละเอียดขึ้น จนเหมือนไม่หายใจเลย ความลับอยู่ตรงนี้คือ เราใช้ออกซิเจนน้อยลง อัตราการเผาผลาญก็น้อยลง เราก็แก่ช้าขึ้น  ที่เป็นเช่นนี้ มีคำตอบในทางทฤษฎีว่า

พ.ศ. 2510 ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน ผู้ก่อตั้งสถาบันรักษาใจและกาย (Mind/Body Medical Institute) ศาสตราจารย์สอนวิชาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Havard Medical School) รัฐแมสซาชูเซ็ทส์ ได้ทำการทดลองกับ นักปฏิบัติธรรม จำนวน 36 คน ผลการวิจัยพบว่า

1.     อัตราการใช้ ออกซิเจน ลดลง 17% หมายความว่า ถ้าร่างกายใช้ ออกซิเจน น้อยลง
อัตราการเผาผลาญ ในร่างกายก็จะ ลดลง ไปด้วย เมื่อเผาผลาญลดลงร่างกายก็เสื่อมน้อยลง เช่นกัน เมื่อร่างกายเสื่อมน้อยลง หน้าตาก็จะ อ่อนกว่าวัย และอายุขัยก็จะ ยืนยาว อัตราการเต้นของหัวใจ ลดลงนาทีละ 3 ครั้ง หมายความว่า หัวใจจะแข็งแรงและ ไม่ต้องทำงานหนัก เหมือนแต่ก่อน

2. สามารถบันทึกคลื่นสมองของคนเราได้ ด้วยการเอาเครื่อง EEG มาฉายแสดงออกเป็นเส้นกร๊าฟ ผลการวิจัยของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สรุปอย่างชัดเจนว่าสมาธิก่อให้เกิด คลื่นสมองธีต้า (Theta wave)

นอกเหนือนี้ ประโยชน์ง่ายๆของการนั่งสมาธิ คือ ลดความเครียด ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค มีอารมณ์เยือกเย็น มีความคิดที่เฉียบคม เบิกบาน มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สูง นี่คือผลส่วนหนึ่งของการนั่งสมาธิเท่านั้นเอง หากท่านใดทำสมาธิได้เชี่ยวชาญขั้นสูง ได้อภิญญาต่างๆ จากการนั่งสมาธิเหมือนๆกับพระเกจิอาจารย์ที่เรารู้จักก็สามารถเรียนรู้ต่อไปได้

สำหรับใครที่อยากนั่ง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร คุณหนูดี วนิษา เรซ 

แนะนำว่า นั่งสมาธิวันละ 12 นาที หลังจากตื่นนอนแล้ว ให้ตั้งสติและนั่งสมาธิทุกเช้า วันละ 12 นาที และก่อนนอน 20 นาที
เพื่อให้สมองเข้าสู่ช่วงที่มีคลื่น Thet a ซึ่งเป็นคลื่นที่ผ่อนคลายสุดๆ ทำให้สมองมี Mental Imagery สามารถจินตนาการเห็นภาพและมีความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

อีก 1 เคส ที่ปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพทางเลือกมืออาชีพให้กับคนดังอย่าง วิกกี้ วัลโคลนิส เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของดาราฮอลลีวู้ด ที่เคยได้ชือว่าสวยที่สุดในโลก อย่างกวินเน็ท พาโทรว์ ในหนังสือ The Body Doesn’t Lie ว่า พาโทรว์จะก็นั่งทำสมาธิผ่อนคลายทุกวัน วันละ 3 เวลา ครั้งละ 15 นาที คือ

เช้า เพื่อการมองโลกในแง่ดี
บ่าย เพื่อตั้งเป้าหมาย
เย็น เพื่อทบทวนและปล่อยวาง
ไม่เชิงเป็นการนั่งสมาธิแบบเราๆเท่าไหร่ แต่คือนั่งนิ่งๆ ปล่อยวาง หยุดคิด และปิดทุกอย่าง


เธอเอ๋ย คนที่สวยที่สุดในโลกยังนั่งสมาธิเลย แล้วสวยในซอยอย่างเรา จะไม่นั่งได้อย่างไร

การนั่งสมาธิ ก็ทำได้ไม่ยาก แล้วแต่ความชอบนะคะ บางคน ชอบนั่งเฉยๆ บางคน หรือภาวนาแล้วแต่ถนัดของแต่ละคนเลย แต่เจ้าของกระทู้ชอบฟังดนตรีเบาๆผ่อนคลายก่อน แล้วค่อยนั่งเฉยๆสัก 20 นาทีค่ะ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ข้อมูลในกระทู้นี้ เจ้าของกระทู้ก็ได้ข้อมูลจากการสังเกต ค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต และลองทำดู เพราะเป็นคนสนใจเรื่องธรรมะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  
แล้วถามว่า หน้าเด็กหน้าใสหรือยัง ต้องตอบเลยว่า ดีกว่าตอนไม่รู้จักเข้าวัดเข้าวามากเลย เพราะตะก่อน เครียดง่าย→เป็นสิว→ยิ่งเครียด→กิน→อ้วน→เครียดยิ่งกว่าเดิม เป็นวัฏจักรเรื่อยไป แต่ตอนนี้เป็นสิวนานๆที (ถ้าช่วงไหนนอนดึก) พอหน้าดีขึ้น ชีวิตก็สดใสขึ้นน่ะ ไม่ต้องเชื่อกันก็ได้ แต่อยากให้ลองทำดู

ถ้าใครเคยไปปฏิบัติธรรมสัก 3 วัน 7 วัน จะเห็นได้ว่า ขนาดเราใส่ชุดขาว ไม่ได้แต่งหน้า แต่พอถ่ายรูปออกมา หน้าตากลับสว่างผ่องใสกว่าตอนแต่งหน้าจัดเต็มเสียอีก การสวดมนต์นั่งสมาธินั้น สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันเลย แต่ถ้าว่าง ลองหาสถานที่ปฏิบัติธรรมไปพักกายใจจากหน้าที่การงานนะคะ เริ่มวันวิสาขบูชานี้ก็ได้ รับรองว่ากลับ เพื่อนร่วมงานอาจจะทักว่ามาฝึกงานหรือเปล่าก็เป็นไปได้