วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ประโยชน์ของการสร้างวัดใหญ่

>>ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะทีละเรื่อง
และทยอยบัญญัติพระวินัยทีละสิกขาบทเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น
ในยุคนั้นไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีการพิมพ์หนังสือ
แล้วคณะสงฆ์ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆอย่างกว้างขวางทั่วอินเดีย
จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นใหม่อีกกี่สิกขาบทแล้ว
และถ้าไม่รู้ ถือพระวินัยไม่เท่ากันสวดปาฏิโมกข์ก็มีสิกขาบทไม่เท่ากัน คณะสงฆ์ก็ย่อมขาดเอกภาพ


(ภาพจาก http://www.watpaphukon.org/)

>>เคล็ดลับของการสื่อสารในสมัยพุทธกาล คือ วัดใหญ่ในกรุงสาวัตถี

_ในช่วง 19 พรรษาแรก พระพุทธเจ้าทรงจาริกไปจำพรรษาในที่ต่างๆ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ
แต่ช่วงตั้งแต่พรรษาที่ 20 ถึงพรรษาที่ 44 พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถีเมืองเดียว 25 พรรษาต่อเนื่อง
โดยจำพรรษาที่วัดเชตวันมหาวิหาร 19 พรรษา และวัดบุพพาราม 6 พรรษา
คัมภีร์บันทึกไว้ชัดเจนว่า ในเชตวันมหาวิหารซึ่งมีพระจำพรรษานับพันรูป
มีการจัดที่พักของพระอยู่เป็นกลุ่มๆตามความชำนาญเช่น พระวินัยธร ผู้เชี่ยวชาญพระวินัย
พระธรรมธรผู้เชี่ยวชาญพระสูตร พระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญการแจกแจงแสดงธรรม เป็นต้น
และในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นธรรมเนียมสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว
จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งคณะสงฆ์ทั้งแผ่นดินต่างรู้ดีว่าพระองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่กรุงสาวัตถี
ไปแล้วพบแน่ ถ้าพระพุทธเจ้าทรงจาริกไปจำพรรษาในที่ต่างๆ คณะสงฆ์ก็ไม่รู้จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ไหน
ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่พรรษาที่ 20 ซึ่งคณะสงฆ์ขยายตัวไปทั่วแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงจำพรรษาที่เมืองเดียว 25 พรรษาต่อเนื่อง
เมื่อคณะสงฆ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว พระทัพพมัลลบุตรก็จะพาไปพัก
พระที่สนใจพระวินัยก็จะไปพักกับกลุ่มพระวินัยธร พระที่สนใจพระสูตรก็ไปพักกับกลุ่มพระธรรมธร
ศึกษาท่องจำพระสูตรใหม่ๆและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น
เมื่อทรงจำได้ดีแล้วก็กราบทูลลาพระพุทธเจ้า จาริกไปในที่ต่างๆ ต่อไป
เมื่อไปถึงวัดหลักในหัวเมืองต่างๆ ก็จะเคาะระฆังประชุมสงฆ์
แจ้งให้ทราบว่าเพิ่งเดินทางมาจากเชตวันมหาวิหาร แล้วสาธยายพระสูตรหรือพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติใหม่ให้พระภิกษุในที่นั้นฟัง
เมื่อพระในที่นั้นๆท่องจำได้ดีแล้วก็แยกย้ายกันจาริกต่อไปยังวัดย่อยๆ กระจายข่าวต่อๆกันไปอีก
ทำให้คณะสงฆ์ที่กระจายตัวในพื้นที่กว้างใหญ่รู้พระวินัยและพระสูตรเสมอกัน
_นี่คือการสื่อสารไร้สายในครั้งพุทธกาล
วัดใหญ่อย่างเชตวันมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้าง สิ้นทรัพย์คิดเป็นเงินปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท
จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนา


ภาพจาก http://www.phasornkaew.org

>>ตัวอย่างจากสถานศึกษา<<

สถานศึกษาจะมีหลายขนาด เช่น สถานศึกษาในหมู่บ้าน ก็เป็นโรงเรียนประถม ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด
ก็เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นจนถึงมัธยม บางจังหวัดก็มีสถาบันระดับอาชีวะและอุดมศึกษา
ส่วนในระดับประเทศก็มีมหาวิทยาลัยใหญ่ บางแห่งใช้งบก่อสร้างหลายหมื่นล้านบาท ใช้งบดำเนินการปีละหลายพันล้าน
หากทั้งประเทศมีแต่โรงเรียนประชาบาล ไม่มีมหาวิทยาลัย
ก็คงยากที่จะพัฒนาการศึกษาและคุณภาพประชากรได้ สถานศึกษาต้องมีหลายระดับ ต่างทำหน้าที่ตามบทบาทของตน


(วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม http://travel-barw.blogspot.com/2013_04_01_archive.html)

@ประโยชน์ของวัดใหญ่@

วัดก็เช่นเดียวกัน มีทั้งวัดในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเหมือนโรงเรียนสอนศีลธรรมในชุมชน
และต้องมีวัดใหญ่ๆเพื่อเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยสอนศีลธรรม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของวัดต่างๆ
เพื่อนำไปขยายผลต่อไปยังประชาชนทั่วประเทศ เป็นแหล่งสร้างสรรค์กิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการปลูกฝังศีลธรรม เป็นเหมือนหัวรถจักรที่ฉุดขบวนรถไฟให้เคลื่อนตัวไป
การสร้างวัดใหญ่ๆที่มีประชาชนมาศึกษาปฏิบัติธรรมมากจึงมีความจำเป็น ขอเพียงเมื่อสร้างแล้ว
มีประชาชนมาใช้ประโยชน์ด้วยการศึกษาและปฏิบัติธรรมจริงเท่านั้น


>>เศรษฐกิจกับจิตใจต้องพัฒนาคู่กัน<<

เมื่อดูจากปัญหาสังคมในปัจจุบัน ที่อบายมุขและยาเสพติดท่วมเมือง ผู้คนขาดศีลธรรม
แสดงให้เห็นชัดว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาจิตใจขาดความสมดุลกัน เราทุ่มเทงบประมาณ
กำลังคนมากมายกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาจิตใจกลับยังมีงบประมาณและคนทำงานน้อยมาก
ให้ลองพิจารณาดูเถิดว่า ผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยปีหนึ่งๆที่ไปทำงานทางธุรกิจมีกี่คน
และที่มาทำงานด้านพัฒนาศีลธรรมมีกี่คน ก็จะพบว่าสัดส่วนต่างกันราวฟ้ากับดิน
เราจึงควรช่วยกันสร้างวัดใหญ่ๆเพิ่มขึ้น ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆ
และชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้นด้วย
ไม่ต้องเกรงเรื่องความสิ้นเปลืองเลย เพราะ คนไทยใช้เงินไปกับอบายมุขปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท
แค่นำเงินที่ละลายไปกับอบายมุขเพียง 10 % มาสร้างวัดก็จะได้วัดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ซึ่งเป็นการใช้ทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ บ้านเมืองเราจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจกับจิตใจควบคู่กันไปอย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น