หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ไม่ควรดูเบาการให้ทาน ว่าไม่สามารถกำจัดกิเลสได้



ประเด็นเรื่องคำสอนวัดพระธรรมกาย มีการพูดถึงการทำทานมาก บางคนออกตัวแรงถึงขนาดว่า การทำทานเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลส คือ ความโลภ ก็มีหรือ หลาย ๆ ความเห็น ก็มองว่าพระพุทธเจ้าสอนให้สละไม่ยึดติด เพื่อดับกิเลสไปนิพพาน การทำทานซึ่งมีผลเป็นบุญ และบุญนี้มีอานิสงส์ ดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติ ความสุข ความสำเร็จต่าง ๆ มาสู่ชีวิต นี้จะทำจึงไม่น่าจะถูกต้อง ทำให้ การให้ทาน กลายเป็นผู้ต้องหา เป็นสิ่งไม่ดีไป ซึ่งไม่ถูกต้อง



เมื่อให้ทาน ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับการแสวงหาจึงเป็นการตัดต้นเหตุ ต่อ ๆ ไป เพื่อการทำอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมจึงไม่เกิด จึงไม่มีบาป และไม่มีวิบากกรรมที่เป็นทุกข์ตามมา และการให้ทานยังทำให้ อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นลดน้อยลง ซึ่งได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ซึ่งเป็นฐานในการทำภาวนา เรียกว่า เป็นเครื่องประดับจิตอันประกอบด้วยสมถะ และวิปัสสนา ซึ่ง ในทานสูตร ท่านอธิบายว่าการให้ทานแล้วทำอย่างนี้ มีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะสามารถกำจัดกิเลสไปนิพพานได้ (มมร. อัง.สัต. 47/49/144) “...แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นธรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้...”

การให้ทานเป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ใจละอุปาทาน ลงเป็นลำดับ เป็นการฝึกจิตในชั้นต้นเพื่อละ ความยึดมั่นถือมั่นโดยเฉพาะเรื่อง กามุปาทาน คือการติดในกามคุณ ด้วยการให้ทานแก่ผู้อื่น และในอรรถกถาก็กล่าวว่า การให้ทานทำให้ใจของทั้งผู้ให้และ ผู้รับอ่อนโยนลง จึงนุ่มนวลควรแก่การงานคือการทำภาวนาต่อไป (มมร. องฺ.สตฺตก.อ. 77/121/472 )


“อทนฺตทมนํ ทานํ อทานํ ทนฺตทูสกํ อเนน ปิยวาเจน โอณมนฺติ มนมฺติ จ.
การให้ทานเป็นเครื่องฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก การไม่ให้ทานเป็นเครื่องประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว ชนทั้งหลายมีจิตโอนอ่อน และน้อมลงด้วยปิยวาจานี้.”



มหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นตัวอย่างการทำทานเพื่อการละกิเลส ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ได้กล่าวถึง นางวิสาขา ขอพร 8 ประการ(ขออนุญาต) จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งล้วนแต่เป็นการขอให้ตนได้ถวายทานต่าง ๆ แก่พระภิกษุทั้งสิ้น

(มมร.วิ.ม. 7/153/284) “...วิ. พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัส-สิกสาฎก จะถวายภัตเพื่อพระอาคันตุกะ จะถวายภัตเพื่อพระที่เตรียมจะไป จะถวายภัตเพื่อพระอาพาธ จะถวายภัตเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จะถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จะถวายยาคูประจำ และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉัน ปรารถนาจะถวายอุทกสากฎ จนตลอดชีพ...”



โดยมีเหตุผล นอกจากจะเห็นประโยชน์ที่พระภิกษุจะได้รับแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวของท่านเอง คือเมื่อระลึกถึงกุศลเหล่านั้นแล้วจะเกิด ความปลื้มใจ อิ่มใจ และความสุข เพื่อเป็นฐานสำหรับ การเจริญสมถะ และ วิปัสสนาต่อไป

(มมร.วิ.ม. 7/153/284) “...เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอันหม่อม ฉันได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ประการต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า.”



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทราบเหตุผลอย่างนั้นแล้ว ก็ทรงรับรองความถูกต้องด้วยการ กล่าวอนุโมทนาคาถา เพื่อสรุปอีกครั้งหนึ่งถึงการทำทานเพื่อการกำจัดกิเลสเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทำได้ทันทีแม้ในตอนนี้ เรายังทำเจตนาในการทำทานให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ทั้งหมดไม่ได้ ยังอาจจะความอยากเข้ามาแทรก ก็ไม่เป็นไร การทำทานจะค่อย ๆ ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น และเป็นอุปการะต่อการทำภาวนาในภายหน้าต่อไป อย่างที่มหาอุบาสิกาวิสาขาท่านใช้คำว่า อบรมอินทรีย์ อบรมพละ

“(มมร.วิ.ม. 7/154/284) [๑๕๔] สตรีใด ไห้ข้าวและน้ำ มีใจ เบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้วบริจาคทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสะ(สุข ฉบับอื่น ๆ ใช้สุขตรงกัน มมร.พิมพ์ผิด) สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลศเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุ เป็นทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมี สุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อมปลื้มใจใน สวรรค์สิ้นกาลนาน.”





ความไม่เข้าใจในเรื่องการให้ทานตามที่ปรากฏในโซเชียลทั้งหลาย ที่มองว่าการทำทานไม่ต่างกับการซื้อขายแลกเปลี่ยน การทำทานหวังผลเป็นความโลภเพิ่มพูนกิเลส และการทำไม่สามารถกำจัดกิเลสไปนิพพานได้ ทำให้ติดข้องอยู่ในวัฏฏะ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความไม่รู้ว่าการให้ทานในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร การให้ทานที่ถูกต้อง เป็นความดี เป็นกุศลกรรม จึงประกอบด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย กายทุจริต และวจีทุจริต การให้ทานหวังผลไม่ได้ผิดอะไร แต่การหวังผลที่ถูกต้องจะทำให้ ทานนั้นมีผลมากมีอานิสงส์มาก ซึ่งการให้ทานที่ดีที่สุด คือ การให้ทานเพื่อกำจัดกิเลส หรือดับทุกข์ ดังนั้นจึงควรทำทาน เพราะทานเป็นความดีซึ่งมีผล หากยังไม่หมดกิเลสก็จะทำให้ มีสมบัติหล่อเลี้ยงชีวิตให้ไม่ลำบากสร้างความดีอื่น ๆ ได้ง่ายดาย แม้ตายก็ไปสวรรค์ และยังเป็นการฝึกจิตในเบื้องต้น เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการทำภาวนากำจัดกิเลส ให้ง่ายขึ้น ดีขึ้น จนสามารถกำจัดกิเลสบรรลุนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดในชีวิตได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น