วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หลักฐาน นิพพานคือเมืองแก้ว จากพระไตรปิฏก

ดูก่อนมหาบพิตร เสียงที่ ๘ เป็นเสียงเปล่งอุทาน คือ
ที่เงื้อมภูเขานันทมูลกะ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งว่า อายุสังขารของตนจะสิ้นแล้ว จึงคิดว่าจักไปแดนมนุษย์ ปรินิพพานในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี พวกมนุษย์จักเผาศพเรา จักเล่นสาธุกีฬา บูชาธาตุบำเพ็ญทางสวรรค์ ดังนี้ แล้วเหาะมาด้วยฤทธานุภาพ เวลามาถึงยอดปราสาทของพระองค์ โดยปลงขันธภาระเปล่งอุทานแสดงเมืองแก้วคือนิพพาน ดังนี้
แล้วกล่าวคาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้ ความว่า :-
เราเห็นพระนิพพานอันเป็นที่สิ้นชาติ ไม่ต้องกลับมานอนในครรภ์อีก โดยไม่ต้องสงสัย ความเกิดของเรานี้มีในที่สุดแล้ว การนอนในครรภ์เป็นหนสุดท้ายแล้ว สงสารเพื่อภพใหม่ต่อไปของเราสิ้นสุดแล้ว
อ้างถึง
อ้างอิงพระไตรปิฏก....http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1129

เมื่อหลวงปู่ปานให้หลวงพ่อฤาษีลิงดำไปเรียนธรรมกาย

  หลวงพ่อสดท่านยืนยันเอาจริงเอาจังเรื่องนิพพานไม่สูญ ต่อมาท่านก็สงเคราะห์ ท่านแนะนำวิธีการของท่าน ทุกคนก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนิพพานมีจริง เห็นนิพพานเป็นแก้ว แพรวพราวเป็นระยับ พระที่นิพพานทั้งหมด เป็นแก้วหมด แต่ไม่ใช่แก้วปั้น เป็นแก้วเดินได้ คือแพรวพราวเหมือนแก้ว

เมื่อหลวงปู่ปานให้หลวงพ่อฤาษีลิงดำไปเรียนธรรมกาย
อาตมาเองก็เป็นคนงมงายมาก่อน ในกาลก่อนใครพูดเรื่องนิพพานไม่เชื่อ นิพพานมีสภาพสูญ เขาว่าอย่างนั้น
ต่อมา หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเป็นอาจารย์ ท่านเห็นว่า เรามีสันดานชั่วละมั้ง ก็ส่งให้ไปหา หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ไปเรียนกับหลวงพ่อสดประมาณ ๑ เดือน ก็ทำได้ตามสมควร เรียกว่าพื้นฐานมีอยู่แล้ว
ต่อมาวันหนึ่งประมาณเวลา ๖ ทุ่มเศษ หลังจากทำวัตรสวดมนต์ เจริญกรรมฐานกันแล้ว หลวงพ่อสดท่านก็คุยชวนคุย คนอื่นเขากลับหมด ก็อยู่ด้วยกันประมาณ ๑๐ องค์ วันนั้น ท่านก็บอกว่า ฉันมีอะไรจะเล่าให้พวกคุณฟัง คือ พระที่ไปถึงนิพพานแล้ว มีรูปร่างเหมือนแก้วหมด ตัวเป็นแก้ว เราก็นึกในใจว่าหลวงพ่อนี่ไปมากแล้ว นิพพานเขาบอกว่ามีสภาพสูญ แล้วทำไมจะมีตัวมีตน
แล้วท่านก็ยังคุยต่อไปว่า นิพพานนี้เป็นเมือง แต่ว่าเป็นทิพย์พิเศษ เป็นทิพย์ที่ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก มีพระอรหันต์มากมาย คนที่ไปนิพพานได้ เขาเรียกว่า พระอรหันต์ จะตายเมื่อเป็นฆราวาส จะตายเมื่อเป็นพระก็ตาม ต้องถึงอรหันต์ก่อน เมื่อถึงอรหันต์ก่อนแล้วก็ตาย ตายแล้วก็ไปอยู่ที่นั่น ร่างกายเป็นแก้วหมด เมืองเป็นแก้ว สถานที่อยู่แพรวพราวเป็นระยับ
อาตมาก็นึกในใจว่าหลวงพ่อนี่ไปเยอะ ตอนก่อนก็ดี สอนดี มาตอนนี้ชักจะไปมากเสียแล้ว แต่ก็ไม่ค้าน ฟังแล้วก็ยิ้ม ๆ ท่านก็คุยต่อไปว่า เมื่อคืนนั้น ขี่ม้าแก้วไปเมืองนิพพาน(เอาเข้าแล้ว) แล้วต่อมาคุยไปคุยมาท่านก็บอกว่า (ท่านคงจะทราบ ท่านไม่โง่เท่าเด็ก เพราะพระขนาดรู้นิพพานไปแล้ว อย่างอื่นก็ต้องรู้หมด แต่ความจริงคำว่า รู้หมด ในที่นี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท ไม่ใช่รู้เท่าพระพุทธเจ้า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ควรจะรู้ ก็สามารถรู้หมด)
ท่านก็เลยบอกว่า เธอดูดาวดวงนี้นะ ดาวดวงนี้สุกสว่างมาก ประเดี๋ยวฉันจะทำให้ดาวดวงนี้ริบหรี่ลง จะค่อย ๆ หรี่ลงจนกระทั่งไม่เห็นแสงดาว ท่านชี้ให้ดู แล้วก็มองต่อไป ตอนนี้เริ่มหรี่ละ ๆ แสงดาวก็หรี่ไปตามเสียงของท่าน ในที่สุด หรี่ที่สุด ไม่เห็นแสงดาว ท่านถามว่า เวลานี้ทุกคนเห็นแสงดาวไหม ก็กราบเรียนท่านว่า ไม่เห็นแสงขอรับ ท่านบอกว่าต่อนี้ไป ดาวจะเริ่มค่อย ๆ สว่างขึ้นทีละน้อย ๆ จนกระทั่งถึงที่สุด แล้วก็เป็นไปตามนั้น
พอท่านทำถึงตอนนี้ก็เกิดความเข้าใจว่า ความดีหรือวิชาความรู้ที่เรามีอยู่ มันไม่ได้ ๑ ในล้านที่ท่านมีแล้ว ฉะนั้นคำว่านิพพานจะต้องมีแน่ ท่านมีความสามารถอย่างนี้เกินที่เราจะพึงคิด
ครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ที่ศึกษามาในด้านกรรมฐานก็ดีหรือที่คุยกันมาก็ดี นี่ท่านรู้จริง ท่านก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนิพพาน คำว่านิพพานสูญท่านไม่ยอมพูด ไปถามท่านเข้าว่านิพพานสูญรึ ท่านนิ่ง
ในที่สุดก็ไปถาม ๒ องค์ คือ หลวงพ่อปาน กับ หลวงพ่อโหน่ง ถามว่านิพพานสูญรึ ท่านตอบว่า ถ้าคนใดสูญจากนิพพาน คนนั้นก็เรียกว่านิพพานสูญ แต่คนไหนไม่สูญจากนิพพาน คนนั้นก็เรียกนิพพานไม่สูญ ก็รวมความว่า นิพพานไม่สูญแน่
ทีนี้ต่อมา หลวงพ่อสดท่านก็ยืนยันเอาจริงเอาจัง ต่อมาท่านก็สงเคราะห์คืนนั้นเอง ท่านก็สงเคราะห์บอกว่า เรื่องต้องการทราบนิพพาน เขาทำกันอย่างนี้ ท่านก็แนะนำวิธีการของท่าน รู้สึกไม่ยาก เพราะเราเรียนกันมาเดือนหนึ่งแล้ว ตามพื้นฐานต่าง ๆ ท่านบอกว่าใช้กำลังใจอย่างนี้ เวลาผ่านไปประมาณสัก ๑๐ นาที รู้สึกว่านานมากหน่อย
ทุกคนก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนิพพานมีจริง เห็นนิพพานเป็นแก้ว แพรวพราวเป็นระยับ พระที่นิพพานทั้งหมด เป็นแก้วหมด แต่ไม่ใช่แก้วปั้น เป็นแก้วเดินได้ คือแพรวพราวเหมือนแก้ว สวยงามระยับทุกอย่าง
ที่พูดนี้ยังนึกถึงบุญคุณหลวงพ่อสดท่านยังไม่หาย ท่านมีบุญคุณมาก
รวมความว่า เวลานั้นเรายังเป็นคนโง่ อาจจะมีจิตทึมทึก แต่ความจริงขอพูดตามความเป็นจริง เวลานั้นจิตไม่ดำ จิตใสเป็นแก้ว แต่ความแพรวพราวของจิตไม่มี การใสเป็นแก้วนั้น เวลานั้นเป็นฌานโลกีย์ ฌานสูงสุด ใช้กำลังเฉพาะเวลานะ ฌานโลกีย์นี้เอาจริงเอาจังกันไม่ได้ จะเอาตลอดเวลานี้ไม่ได้ เพราะอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์
แล้วท่านก็สั่งว่า หลังจากนี้ต่อไป ทุก ๆ องค์ จงทำอย่างนี้จิตต่อให้ถึงนิพพานทุกวัน ตามที่จะพึงทำได้ อย่างน้อยที่สุด จงพบนิพพาน ๒ ครั้ง คือ ๑.เช้ามืด และประการที่ ๒.ก่อนหลับ หลังจากนี้ไป เธอกลับไปแล้ว ทีหลังกลับมาหาฉันใหม่ ฉันจะสอบ
เมื่อได้ลีลามาอย่างนั้นแล้วก็กลับมาหาครูบาอาจารย์เดิม คือ หลวงพ่อปาน พอขึ้นจากเรือก็ปรากฏว่าพบหลวงพ่อปานอยู่หน้าท่า ท่านเห็นหน้าแล้วท่านก็ยิ้ม ว่าอย่างไรท่านนักปราชญ์ทั้งหลาย เห็นนิพพานแล้วใช่ไหม
ตกใจ ก็ถามว่า หลวงพ่อทราบหรือครับ บอก เออ ข้าไม่ทราบหรอกวะ เทวดาเขามาบอก บอกว่าเมื่อคืนที่แล้วมานี่ หลวงพ่อสดฝึกพวกเอ็งไปนิพพานใช่ไหม
ก็กราบเรียนท่านบอกว่า ใช่ขอรับ ท่านบอกว่า นั่นแหละ เป็นของจริง ของจริงมีตามนั้น หลวงพ่อสดท่าน มีความสามารถพิเศษในเรื่องนี้
ก็ถามว่า ถ้าหลวงพ่อสอนเองจะได้ไหม ท่านก็ตอบว่า ฉันสอนเองก็ได้ แต่ปากพวกเธอมันมาก มันพูดมาก ดีไม่ดีพูดไปพูดมา งานของฉันก็มาก งานก่อสร้างก็เยอะ งานรักษาคนเป็นโรคก็เป็นประจำวัน ไม่มีเวลาว่าง ถ้าเธอไปพูดเรื่องนิพพาน ฉันสอนเข้าฉันก็ไม่มีเวลาหยุด เวลาจะรักษาคนก็จะไม่มี เวลาที่จะก่อสร้างวัดต่าง ๆ ก็ไม่มี ฉันหวังจะสงเคราะห์ในด้านนี้ จึงได้ส่งเธอไปหาหลวงพ่อสด
ก็ถามว่า หลวงพ่อสดกับหลวงพ่อรู้จักกันดีรึ ท่านก็ตอบว่า รู้จักกันดีมาก เคยไปสอบซ้อมกรรมฐานด้วยกัน สอบกันไปสอบกันมาแล้ว ต่างคนต่างต้นเสมอกัน ก็รวมความว่ากำลังไล่เลี่ยกัน
บรรดาท่านพุทธบริษัท นี่เป็นจุดหนึ่งที่อาตมาแสดงถึงความโง่กับครูบาอาจารย์………

ที่มา : จากบันทึกของท่านพ่อฤาษีลิงดำ…

ปฏิปทาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอนที่4 หลวงปู่เสาร์นั้งสมาธิแล้วตัวลอย





จากหนังสือ ชีวประวัติ-ปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
จำนวน ๑๒ เล่มนำมาจากโครงการหนังสือบูรพาจารย์ หน้าที่80

จัดทำโดย รศ.ดร.ปฐม - รศ.ภัทรา นิคมานนท์
ขออนุโมทนาขอบพระคุณที่กรุณาเอื้อเฟื้อต้นฉบับ ในการเผยแพร่เป็นธรรมทาน

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ไม่ควรดูเบาการให้ทาน ว่าไม่สามารถกำจัดกิเลสได้



ประเด็นเรื่องคำสอนวัดพระธรรมกาย มีการพูดถึงการทำทานมาก บางคนออกตัวแรงถึงขนาดว่า การทำทานเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลส คือ ความโลภ ก็มีหรือ หลาย ๆ ความเห็น ก็มองว่าพระพุทธเจ้าสอนให้สละไม่ยึดติด เพื่อดับกิเลสไปนิพพาน การทำทานซึ่งมีผลเป็นบุญ และบุญนี้มีอานิสงส์ ดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติ ความสุข ความสำเร็จต่าง ๆ มาสู่ชีวิต นี้จะทำจึงไม่น่าจะถูกต้อง ทำให้ การให้ทาน กลายเป็นผู้ต้องหา เป็นสิ่งไม่ดีไป ซึ่งไม่ถูกต้อง



เมื่อให้ทาน ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับการแสวงหาจึงเป็นการตัดต้นเหตุ ต่อ ๆ ไป เพื่อการทำอกุศลกรรม เมื่ออกุศลกรรมจึงไม่เกิด จึงไม่มีบาป และไม่มีวิบากกรรมที่เป็นทุกข์ตามมา และการให้ทานยังทำให้ อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นลดน้อยลง ซึ่งได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ซึ่งเป็นฐานในการทำภาวนา เรียกว่า เป็นเครื่องประดับจิตอันประกอบด้วยสมถะ และวิปัสสนา ซึ่ง ในทานสูตร ท่านอธิบายว่าการให้ทานแล้วทำอย่างนี้ มีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะสามารถกำจัดกิเลสไปนิพพานได้ (มมร. อัง.สัต. 47/49/144) “...แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นธรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้...”

การให้ทานเป็นการฝึกจิตอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ใจละอุปาทาน ลงเป็นลำดับ เป็นการฝึกจิตในชั้นต้นเพื่อละ ความยึดมั่นถือมั่นโดยเฉพาะเรื่อง กามุปาทาน คือการติดในกามคุณ ด้วยการให้ทานแก่ผู้อื่น และในอรรถกถาก็กล่าวว่า การให้ทานทำให้ใจของทั้งผู้ให้และ ผู้รับอ่อนโยนลง จึงนุ่มนวลควรแก่การงานคือการทำภาวนาต่อไป (มมร. องฺ.สตฺตก.อ. 77/121/472 )


“อทนฺตทมนํ ทานํ อทานํ ทนฺตทูสกํ อเนน ปิยวาเจน โอณมนฺติ มนมฺติ จ.
การให้ทานเป็นเครื่องฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก การไม่ให้ทานเป็นเครื่องประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว ชนทั้งหลายมีจิตโอนอ่อน และน้อมลงด้วยปิยวาจานี้.”



มหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นตัวอย่างการทำทานเพื่อการละกิเลส ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ได้กล่าวถึง นางวิสาขา ขอพร 8 ประการ(ขออนุญาต) จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งล้วนแต่เป็นการขอให้ตนได้ถวายทานต่าง ๆ แก่พระภิกษุทั้งสิ้น

(มมร.วิ.ม. 7/153/284) “...วิ. พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัส-สิกสาฎก จะถวายภัตเพื่อพระอาคันตุกะ จะถวายภัตเพื่อพระที่เตรียมจะไป จะถวายภัตเพื่อพระอาพาธ จะถวายภัตเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จะถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จะถวายยาคูประจำ และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉัน ปรารถนาจะถวายอุทกสากฎ จนตลอดชีพ...”



โดยมีเหตุผล นอกจากจะเห็นประโยชน์ที่พระภิกษุจะได้รับแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวของท่านเอง คือเมื่อระลึกถึงกุศลเหล่านั้นแล้วจะเกิด ความปลื้มใจ อิ่มใจ และความสุข เพื่อเป็นฐานสำหรับ การเจริญสมถะ และ วิปัสสนาต่อไป

(มมร.วิ.ม. 7/153/284) “...เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอันหม่อม ฉันได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ประการต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า.”



พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทราบเหตุผลอย่างนั้นแล้ว ก็ทรงรับรองความถูกต้องด้วยการ กล่าวอนุโมทนาคาถา เพื่อสรุปอีกครั้งหนึ่งถึงการทำทานเพื่อการกำจัดกิเลสเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และทำได้ทันทีแม้ในตอนนี้ เรายังทำเจตนาในการทำทานให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ทั้งหมดไม่ได้ ยังอาจจะความอยากเข้ามาแทรก ก็ไม่เป็นไร การทำทานจะค่อย ๆ ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น และเป็นอุปการะต่อการทำภาวนาในภายหน้าต่อไป อย่างที่มหาอุบาสิกาวิสาขาท่านใช้คำว่า อบรมอินทรีย์ อบรมพละ

“(มมร.วิ.ม. 7/154/284) [๑๕๔] สตรีใด ไห้ข้าวและน้ำ มีใจ เบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้วบริจาคทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำมาซึ่งความสะ(สุข ฉบับอื่น ๆ ใช้สุขตรงกัน มมร.พิมพ์ผิด) สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลศเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุ เป็นทิพย์ สตรีผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมี สุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อมปลื้มใจใน สวรรค์สิ้นกาลนาน.”





ความไม่เข้าใจในเรื่องการให้ทานตามที่ปรากฏในโซเชียลทั้งหลาย ที่มองว่าการทำทานไม่ต่างกับการซื้อขายแลกเปลี่ยน การทำทานหวังผลเป็นความโลภเพิ่มพูนกิเลส และการทำไม่สามารถกำจัดกิเลสไปนิพพานได้ ทำให้ติดข้องอยู่ในวัฏฏะ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความไม่รู้ว่าการให้ทานในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร การให้ทานที่ถูกต้อง เป็นความดี เป็นกุศลกรรม จึงประกอบด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย กายทุจริต และวจีทุจริต การให้ทานหวังผลไม่ได้ผิดอะไร แต่การหวังผลที่ถูกต้องจะทำให้ ทานนั้นมีผลมากมีอานิสงส์มาก ซึ่งการให้ทานที่ดีที่สุด คือ การให้ทานเพื่อกำจัดกิเลส หรือดับทุกข์ ดังนั้นจึงควรทำทาน เพราะทานเป็นความดีซึ่งมีผล หากยังไม่หมดกิเลสก็จะทำให้ มีสมบัติหล่อเลี้ยงชีวิตให้ไม่ลำบากสร้างความดีอื่น ๆ ได้ง่ายดาย แม้ตายก็ไปสวรรค์ และยังเป็นการฝึกจิตในเบื้องต้น เพื่อเป็นฐานสนับสนุนการทำภาวนากำจัดกิเลส ให้ง่ายขึ้น ดีขึ้น จนสามารถกำจัดกิเลสบรรลุนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดในชีวิตได้ในที่สุด